วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

การปรับตัว (Adjustment)


บทที่ 8
การปรับตัว

การดำรงชีวิตอย่างทีความสุขในโลกนี้ได้ มนุษย์จำเป็นจะต้องมีการปรับตัว การปรับตัวเป็นวิธีการอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่สามารถจะดำรงเผ่าพันธุ์และมีชีวิตรอดได้ มนุษย์ใช้เทคนิคหลายประการในการปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งมีชีวิตและการเรียนรู้จากสิ่งมีชีวิตเพื่อจะจัดสภาพแวดล้อมให้มนุษย์รู้จักพัฒนาตนเอง การปรับตัวจึงมีประโยชน์และมีความสำคัญอย่างยิ่งของมนุษย์ในการพัฒนาบุคลิกภาพและพัฒนาชีวิต
8.1 ความหมายของการปรับตัว
การปรับตัวมีความหมายดังต่อไปนี้ กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ ( 2524 : 180 ) กล่าวว่า “การปรับตัวหมายถึงกระบวนการที่บุคคลพยายามปรับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านอารมณ์ บุคลิกภาพและความต้องการให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมจนเป็นสภาพการณ์ที่ตนสามารถอยู่ได้ในสังคมหรือสภาพแวดล้อมนั้นๆ” อรทัย ชื่นมนุษย์ ( 2524 : 11 ) กล่าวว่า “การปรับตัวคือปฏิกิริยาของเราที่มีต่อสิ่งแวดล้อม คนเราแต่ละคนจะพยายามฟันฝ่าให้ได้สิ่งที่อยากได้เพื่อให้สำเร็จถึงจุดมุ่งหมายแต่ละอย่างที่ตนวางไว้ พยายามให้ความหวังลุล่วงไปสมความปรารถนา” ชวนพิศ ทองทวี ( 2531 : 257 ) ให้ความหมายว่า “การปรับตัว หมายถึง การพยายามเอาชนะความคับข้องใจที่เกิดจากการมีอุปสรรคกีดขวางทางนำไปสู่จุดหมายที่ต้องการเพื่อรักษาสมดุลของชีวิต” สรุปแล้ว การปรับตัวหมายถึง การที่มนุษย์เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมเพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข
8.2 ความสำคัญของการปรับตัว
การปรับตัวมีความสำคัญต่อมนุษย์ดังนี้ 8.2.1 ทำให้มนุษย์มีสร้างความสมดุลในจิตใจ เพราะสามารถที่จะหาวิธีขจัดการขัดแย้งอันเกิดสภาพการณ์ของโลกแห่งความเป็นจริงกับความต้องการในจิตใจของมนุษย์ได้ ฟรอยด์กล่าวว่า การใช้กลวิธีในการปรับตัวทำให้ความต้องการของ ID และความเป็นจริงของโลกต่อมนุษย์อยู่ในระดับกลาง ( Crooks & Stein 1988 : 434 ) 8.2.2 ทำให้ Ego ไม่อยู่ในสภาวะวิตกกังวลใจมากเกินไป ความวิตกกังวลใจมี 3 ลักษณะ ดังนี้ 1. Neurotic anxiety เป็นความวิตกกังวล เมื่อ Ego ไม่สามารถควบคุมแรงกระตุ้นของ ID ซึ่งเป็นอันตราย และต้องเก็บกดความปรารถนาอย่างรุนแรง หรือ เมื่อเกิดความรู้สึกหมดหวังที่จะตอบสนองความต้องการ ID 2. Moral anxiety เป็นความวิตกกังวล เมื่อรู้สึกว่าถูกลงโทษจาก Superego 3. Realistic anxiety เป็นความวิตกกังวลใจ เมื่อมีอันตรายอยู่ในโลกภายนอกจริงๆ (นวลละออ สุภาผล 2527: 37 – 38) 8.2.3 การปรับตัวเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนในโลกนี้จะต้องประสบอยู่ตลอดเวลา ถ้าบุคคลใดสามารถปรับตัวได้ดีก็จะเป็นผู้ที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างปกติสุข ( ฉวี วิชญานตินัย 2529: 83 ) 8.2.4 การปรับตัวแสดงให้เห็นถึงเรื่องบุคลิกภาพของบุคคลว่าจะมีลักษณะปกติ มีความสุข หรือปรับตัวไม่ได้ อันส่อให้เห็นถึงภาวการณ์ไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆได้อย่างมีความสุข มีความทุกข์และมีปัญหาทางจิต ( Elizabeth Hurlock 1964: 749) 8.2.5 การปรับตัวเป็นลักษณะของมนุษย์และสัตว์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์และตระกูลของตนไว้สืบไป การปรับตัวบางครั้งมนุษย์และสัตว์จะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการอยู่รอดซึ่งไม่ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
8.3 ลักษณะของผู้ที่ปรับตัวได้ดี 1. มีอัตมโนทัศน์ (Self – Concept) ที่ถูกต้อง 2. มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี 3. มีความรับผิดชอบ 4. ยอมรับความเป็นจริงของตนเองในสังคม ไม่รู้สึกว่าด้อยและต่ำต้อย 5. มีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ 6. มีอารมณ์ขัน 7. มีความสามารถในการตัดสินใจ 8. มีความเชื่อมั่นในตนเองและเคารพตนเอง 9. มีความรักมนุษยชาติ ไม่อิจฉาริษยา 10 . มีความสุขและมีความพอใจในความเป็นอยู่ของตน
8.4 ลักษณะของเด็กที่ปรับตัวไม่ได้ 1. มีความวิตกกังวลใจ ใบหน้าแสดงความทุกข์ 2. เกาะติดกับคนอื่นๆ ไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ได้ 3. ไม่มีความสุข 4. มีปัญหาในการเรียนและการทำงานเพราะขาดสมาธิและไม่มีเหตุผล 5. มีปัญหาในการรับประทานและการนอน 6. แสดงพฤติกรรมผิดปกติ เช่น ดื้อ ร้องไห้บ่อย ละเมอ ตกใจง่าย ปัสสาวะรดที่นอน ๚ล๚ 7. มีอาการทางกายเมื่อเวลากังวลใจ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง หายใจไม่ออก หอบหืด ตาพร่ามัว พูดไม่ชัด ฯลฯ 8. ไม่มีความตั้งใจ การเรียนไม่ดี 9. มีลักษณะร้อนรน แสดงอาการกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง 10. ใจลอย เหม่อ ไม่สนใจใครไม่ค่อยมีเพื่อน
8.5 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัว
การปรับตัวของแต่ละบุคคลต่างๆ มีปัจจัยสนับสนุนว่า การปรับตัวจะเป็นลักษณะอย่างไร ปรับตัวได้ดีหรือจะมีปัญหาในการปรับตัวประเภทใด ศึกษาจากปัจจัยดังนี้ 8.5.1 ชีวิตในช่วงต่างๆ ชีวิตของบุคคลแต่ละวัยมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการในแต่ละช่วงอายุเป็นอย่างไรจะส่งผลให้บุคคลต้องแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น เช่นวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางกายอย่างรวดเร็ว มีความต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการเพื่อนที่สนับสนุนและส่งเสริมบทบาททางสังคม การปรับตัววัยรุ่นมักจะมีปัญหา เพราะเด็กเองรู้สึกสับสนในการเป็นเด็กและเริ่มจะมีความรับผิดชอบในการกระทำแบบผู้ใหญ่ วัยรุ่นมีความต่อต้านสังคมที่มองว่า วัยรุ่นเองทำให้ผู้ใหญ่เดือดร้อนเพราะอยากเด่น อยากดัง การปรับตัวของวัยรุ่นจึงเป็นการแสดงการเด่น การก้าวร้าว บางคนปรับตัวด้วยการเก็บตัว เป็นต้น
8.5.2 สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมมีผลต่อการปรับตัว มนุษย์จำเป็นต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อม เช่น การมีทัศนคติ (เจตคติ) ค่านิยม ประเพณี วัฒนธรรมการศึกษา ระบบการเมือง ดินฟ้าอากาศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและการปรับตัว การปรับตัวของมนุษย์มีตั้งแต่เกิดจนตาย มนุษย์ใช้การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด 8.5.3 พันธุกรรม สิ่งมีชีวิตไม่ว่า พืช คน สัตว์ อาจจะมีการปรับสายพันธุ์เพื่อการอยู่รอด บางครั้งมีการพัฒนาพันธุ์เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ ให้เข้ากับวิวัฒนาการของโลก เช่น ตระกูลไดโนเสาร์ต้องศูนย์พันธุ์ไป เพราะไม่มีการปรับสายพันธุ์ให้เข้ากับเหตุการณ์ของภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงยุคต่างๆจากยุคหิน ยุคทองแดง มาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่เชื้อราบางชนิดมีการพัฒนาเป็นประเภทต่างๆ เพื่อมิให้มันถูกทำลายจากธรรมชาติและคน 8.5.4 ลักษณะของบุคลิกภาพ ลักษณะของบุคลิกภาพของคน เช่น คนอ้วน คนผอม คนรูปร่างสมส่วน เป็นนักกีฬา ซึ่งตามทฤษฎีของเซลดอน มีการปรับตัวแบบต่างๆ เช่นคนอ้วนมักเป็นคนก้าวร้าว คนผอมเป็นเจ้าอารมณ์ ชอบความสันโดษ ไม่เปิดเผยตนเอง ทฤษฎีของจุง อธิบายประเภทการแสดงพฤติกรรมของคนว่าคนลักษณะเปิดเผย (Extrovert) ชอบสนุก โกรธง่าย หายเร็ว เมื่อมีปัญหามักจะแสดงกิริยาก้าวร้าว ใช้กำลัง เป็นต้น นักทฤษฎีต่างๆของฟรอยด์ ได้อธิบายถึงภาวะโครงสร้างของคนว่าโครงสร้างของบุคลิกภาพประกอบด้วยอิด อีโก้ ซุปเปอร์อีโก้ (Id Ego Superego) Id เป็นภาวะของการแสดงสัญชาติญาณดั้งเดิมของมนุษย์ด้านการแสวงหาความสนุกสนาน ตัณหา ความหลงตนว่า เป็นตัวกูของกู ส่วน Ego เป็นลักษณะของความมีเหตุผล อาศัยหลักความเป็นจริงของชีวิต เปรียบเหมือนภาวะของคนที่มีจิตสำนึกซึ่งไม่เหมือนกัน Id ที่เป็นสภาวะของจิตไร้สำนึก ดังนั้นการปรับตัวของบุคคลแต่ละคนล้วนแสวงหาความต้องการของตนและปรับตัวตามลักษณะตามที่ต้องการที่แฝงอยู่ในตนเองเช่น ยึดความเห็นแก่ตัว เอาเปรียบคนอื่นๆ ทำตนน่าสงสาร ทำลายตนเอง เป็นต้น 8.5.5 สัญชาติญาณ คำว่า สัญชาติญาณ หมายถึง สิ่งที่มนุษย์หรือสัตว์มีแต่กำเนิด ไม่ต้องมีการอบรมสั่งสอนหรือแนะนำ เช่น นกรู้จักสร้างรัง คนรู้จักเลี้ยงลูกเองเมื่อถึงเวลาที่ตนมีลูก เป็นต้น วิลเลียม เจมส์ (William James) กล่าวว่า สัญชาติญาณของมนุษย์มีอยู่หลายประการ ได้แก่ 1. สัญชาติญาณแห่งการสืบพันธุ์ 2. สัญชาติญาณแห่งการต่อสู้ 3. สัญชาติญาณแห่งการรวมกลุ่ม 4. สัญชาติญาณแห่งการเป็นพ่อ แม่ 5. สัญชาติญาณแห่งการอยากรู้อยากเห็น 6. สัญชาติญาณแห่งการเรียกร้องความสนใจ 7. สัญชาติญาณแห่งการขอความช่วยเหลือ 8. สัญชาติญาณแห่งการมีชีวิตอยู่รอด 9. สัญชาติญาณแห่งการทำลาย 10. สัญชาติญาณแห่งการต้องการคนสงสาร เห็นใจ สัญชาติญาณของมนุษย์ทำให้มนุษย์มีแบบของการปรับตัวแตกต่างกันตามลักษณะของสัญชาติญาณต่างๆ 8.5.6 การเรียนรู้และประสบการณ์ การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพราะมนุษย์ได้รับประสบการณ์ ด้านสติปัญญา ด้านทักษะ ซึ่งเป็นความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อและมีความสัมพันธ์กันกับระบบประสาท และมีพัฒนาการความรู้สึกในด้านความสวยงาม ความถูกต้อง มนุษย์นำสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้และการเห็นตัวอย่างจากตัวแบบต่างๆ หรือจากประสบการณ์ที่ได้รับทั้งส่วนที่ดีและส่วนลบมาใช้ในการปรับตัว เช่น รู้จักการปรับสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ ให้เข้ากับการดำรงชีวิตและการอยู่รอด มนุษย์ยุคปัจจุบันเจริญในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแผนใหม่ก็อาจจะนำความเจริญไปสร้างเสริมเทคนิคการปรับตัวแบบใหม่ๆ 8.5.7 กระบวนการสังคมประกิต กระบวนการสังคมประกิต หมายถึง การที่มนุษย์ได้รับการอบรมสั่งสอนจากครอบครัว ญาติ ครู กลุ่มคนในอาชีพต่างๆ ตั้งแต่วัยทารก การอบรมสั่งสอนอาจจะเกิดทั้งทางตรงและทางอ้อม ประสบการณ์จากการที่ได้รับการอบรมที่ดี เช่น การได้รับความรักความอบอุ่นจากครอบครัวในวัยทารก จะทำให้บุคคลรับความประทับใจในสิ่งดีเอาไว้ ตามทฤษฎีของอิริคสัน เด็กในระยะวัยทารกถ้ารับความรักจากแม่ จะพัฒนาเป็นความรู้สึกด้านความไว้วางใจแก่ทุกๆคน แต่ทางตรงกันข้ามแม่ไม่เคยให้ความรักแก่ลูกๆ จะพัฒนาความคิดว่าคนทุกคนไว้ใจไม่ได้ ความคิดนี้จะค่อยๆ พัฒนาบุคลิกภาพของคนในวัยต่อไป เมื่อเป็นผู้ใหญ่จะมีลักษณะของความคิดว่าคนทุกคนไม่ดี และมีผลต่อการปรับตัวในโอกาสต่อไป 8.5.8 แบบของพัฒนาการของมนุษย์ ตามทฤษฎีของเฟียเจต์สติปัญญาของคนเกิดขึ้นตั้งแต่วัยทารก โดยการเรียนรู้จากการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่สายตาและอวัยวะจะสัมผัสได้ การสะสมความคิด ความเข้าใจจะค่อยๆพัฒนาการเป็นการเข้าใจสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมแต่จะค่อยๆเข้าใจการใช้เหตุผล การรู้จักวิเคราะห์ การแก้ปัญหาเมื่อมีอายุมากขึ้น จากพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ช่วยสร้างรูปแบบของการปรับตัวของคนแต่ละประเภท ระดับสติปัญญาต่างกันมีผลต่อความแตกต่างและประสิทธิภาพในการปรับตัวของคน ผู้ที่มีปัญหาทางสติปัญญา เช่น คนปัญญาอ่อน บุคลิกภาพแปรปรวน โรคจิต โรคประสาทเพราะมีความบกพร่องทางระบบประสาท และสมองย่อมมีผลต่อลักษณะของการปรับตัวไม่ได้ ส่วนทฤษฎีของโคลเบอร์ที่กล่าวถึงพัฒนาการทางจริยธรรมของคนในวัยต่างๆ ซึ่งเกิดจากการเข้าใจตนเอง การรับหลักการของสังคม การเข้าใจการเป็นพลเมืองดีของสังคมหรือการเอาใจตนเอง เพื่อหวังสิ่งตอบแทน เป็นสิ่งที่สนับสนุนหรือการต่อต้านการปรับตัวของคน เช่น คนบางคนปรับตัวในด้านการเห็นแก่ตัว เอาเปรียบคนอื่น ก้าวร้าวทางการกระทำโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเพราะเขามีพัฒนาการติดกับขั้นต้นๆของจริยธรรม เป็นต้น 8.5.9 การขัดแย้งในใจ ลินดา เดวิตคอฟ (Linda L. Davidoff 1987: 348) ให้ความหมายว่า การขัดแย้ง หมายถึง ภาวะที่บุคคลต้องเลือกเอาระหว่างสถานการณ์ เหตุการณ์ สิ่งของ ความต้องการหรือการกระทำที่มีตัวเลือก 2 สิ่งแต่ต้องเลือกเพียงอย่างเดียว การขัดแย้งในใจ หมายถึง การที่บุคคลมีความวิตกกังวลใจ ไม่สามารถจะเลือกว่าสิ่งใดควรจะเลือกหรือตนเองควรทำอย่างไร การขัดแย้งก่อให้เกิดความทุกข์ ความไม่สบายใจ ซึ่งแยกเป็น 3 ประการได้แก่ 1. การขัดแย้งเพราะตนเองมีสิ่งที่จะต้องเลือกเพียงประการเดียว แต่ตนจะต้องเปรียบเทียบของสองสิ่งซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ตนชอบและต้องการทั้งคู่ กรณีเช่น บุคคลจะรู้สึกว่าตนเองถูกบีบบังคับให้ตัดสินใจ เช่น ต้องเลือกระหว่างการศึกษาต่อและการสอบเข้าทำงาน การกู้เงินเพื่อแต่งงาน กับการสร้างบ้าน เป็นต้น ซึ่งเป็นการขัดแย้งประเภท Positive – Positive 2. การขัดแย้งประเภทที่บุคคลจะต้องเลือกเพียงประการเดียวในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบเลย เป็นการขัดแย้งประเภท Negative - Negative เช่น ขับรถถูกจับเพราะทำผิดกฎจราจรอาจถูกปรับหรือไม่อาจถูกกักขัง เป็นต้น 3. การขัดแย้งประเภทที่บุคคลจะต้องเลือกสิ่งที่ไม่ดีและสิ่งดีซึ่งเกิดคู่กันจะเลือกเฉพาะสิ่งที่ดีไม่ได้ เช่น การแต่งงานกับคนดีแต่จน รักคนสวนแต่ใจดำ เป็นต้น ภาวะของการขัดแย้งในใจเหล่านี้มีผลต่อการปรับตัวของบุคคลที่มีสภาวะของความขัดแย้งในใจอาจจะมีความไม่ปกติเพราะภาวะของการมีสุขภาพจิตที่ไม่สมดุล ส่วนเลวิน (Lewin 1959) แบ่งความขัดแย้งเป็น 4 ประเภท คือ 1.) Approach – approach conflict เป็นลักษณะที่บุคคลจะต้องเลือกเพียงอย่างเดียว การขัดแย้งประเภทนี้ ตัดสินใจง่ายและไม่ค่อยจะต้องคิดมาก เช่น จะไปซื้อของหรือจะไปชมภาพยนตร์ จะศึกษาต่อหรือทำงาน เป็นต้น 2.) Avoidance – avoidance conflict เป็นลักษณะที่บุคคลจะต้องเลือกในสถานการณ์ หรือการกระทำเพียงอย่างเดียวทั้งๆ ที่ สถานการณ์นั้นไม่เป็นที่พึงปรารถนา ซึ่งแตกต่างกับประเภทแรกเพราะ ประเภทแรกเป็นสถานการณ์ที่ดีทั้งคู่ นักจิตวิทยากล่าวว่าการขัดแย้งประเภทนี้ก่อให้เกิดความเครียดสูง เพราะตัดสินใจยาก เช่น ติดคุกหรือถูกปรับ ทำแท้งหรือต้องออกจากโรงเรียน เป็นต้น 3.) Single approach - avoidance conflict เป็นลักษณะที่บุคคลจะต้องกระทำ ไม่มีตัวเลือกเลย เป็นประเภทน้ำผึ้งขม เช่น รถสวยแต่ราคาแพง งานดีแต่วุฒิการศึกษาสูง ภาพยนตร์สนุกแต่บัตรราคาแพง เป็นต้น การขัดแย้งประเภทนี้ทำให้เกิดความกังวลใจสูง 4.) Double approach - avoidance conflict เป็นการเลือกโดยมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ ซึ่งแต่ละจุดมุ่งหมายจะมีทั้งดีและไม่ดี เช่น การศึกษาในภาคกลางคืนดี แต่ต้องใช้เวลานานและค่าเรียนแพง จะแต่งงานกับสมชายหรือนฤนาถดี สมชายเรียนสูงแต่จน ส่วนนฤนาถนิสัยไม่ดีแต่หล่อ เป็นต้น การเลือกประเภทนี้ทำให้บุคคลเครียดและเกิดความสับสนสูง 8.5.10 สุขภาพจิต สุขภาพจิต หมายถึง ภาวะที่บุคคลมีความเข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อม เข้าใจเอกลักษณ์และความรับผิดชอบของตน รวมทั้งการปรับตนให้ข้ากับคนอื่นๆในสังคมได้ การที่บุคคลจะมีสุขภาพจิตที่ดีได้นั้นจะต้องมีความพร้อมทั้งทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ อยู่ในบรรยากาศของความเอื้ออาทรและมีน้ำใจไมตรีต่อกัน คนที่มีลักษณะนี้มักเป็นคนร่าเริง อารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี เป็นมิตร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจกว้าง มีเมตตากรุณา มีลักษณะที่ยืดหยุ่นง่าย เป็นต้น ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม คนประเภทนี้มักจะได้เห็นตัวแบบที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่พัฒนาความรู้นึกคิดด้านสร้างสรรค์ การจัดสภาพแวดล้อมที่ดีมีการเลี้ยงดูเด็กแบบประชาธิปไตย ไม่มีสภาวะรับการกดดันจากสังคมเศรษฐกิจ ประเพณี ความเชื่อ อีกทั้งไม่มีข้อบกพร่องทางด้านสุขภาพทางร่างกายในแง่ความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางจิต สิ่งเหล่านี้ทีผลต่อการเสริมสร้างสุขภาพจิตของบุคคลอย่างยิ่ง ผู้ที่มีสุขภาพจิตดีย่อมมีศิลปะในการปรับตัว และมีวิธีการดำรงชีวิตในสังคมได้ดีถึงแม้ว่าตนเองจะอยู่ในภาวะความสับสน ยุ่งยากเพียงใดก็สามารถประคองชีวิตให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ
8.6 การปรับตัวแบบต่างๆ
ตามปกติแล้วมนุษย์มีวิธีการปรับตัวหลายประการ เช่น ใช้ศิลปะต่างๆ ในการปรับตัว และปรับตัวโดยใช้วิธีการทางการวางเงื่อนไขประเภทต่างๆ การปรับตัววิธีการต่างๆ พอสรุปได้ดังนี้ 1. การใช้ศิลปะการปรับตัว การปรับตัวประเภทนี้มีหลายประการได้แก่ การร้องไห้ การระบายอารมณ์โดยการพูดจา ปรับทุกข์กับคนอื่น การรับประทานอาหารแปลกๆ การท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ การเล่นอาจเป็นการเล่นตามกติกา การร้องเพลง การเล่นดนตรี การเล่นไพ่ การเล่นเทนนิส หรือการเล่นการพนันประเภทต่างๆ เพื่อคลายเครียดและลดความขัดแย้งในใจลง บางคนใช้วิธีการแต่งตัวสวยๆและไปแสดงตัวตามงานต่างๆ แต่บางคนหาคนที่ตนเองรักและชอบเป็นการปลดปล่อยพลังหรือแรงทางเพศ ตามทฤษฎีของฟรอยด์ในปมออดิปุส (Oedipus Complex) หรือปมอีเลคต้า (Electra Complex) โดยมีวิธีการแปลก บางคนรักเผื่อเลือก รักแล้วทิ้ง ไม่รักใครจริงแต่ทดสอบพลังทางเพศของตนเพื่อระบายความไม่สบายใจ เป็นต้น 2. การปรับตัวโดยการต่อสู้ เป็นวิธีการปรับตัวโดยบุคคลทำการต่อต้าน แสดงความก้าวร้าวต่อสิ่งที่ตนไม่ปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นบุคคล กลุ่มคน สัตว์ หรือเหตุการณ์ต่างๆ การต่อสู้อาจเป็นการต่อสู้โดยตรงได้แก่การแสดงพฤติกรรมทางกาย เช่น การชกต่อย ตี ปา ทุบ ทำลาย อีกประการหนึ่งเป็นการแสดงการก้าวร้าวหรือการต่อสู้โดยทางอ้อม ได้ว่า การพูดจะเสียดสี การพูดประชดประชัน การเหน็บแนม การประสงค์ร้าย การแสดงอาฆาตพยาบาท การก้าวร้าวอาจเป็นในรูปการก้าวร้ายย้ายที่ เช่น ตัวเองไม่แสดงอาการแต่จิตใจต่อต้านเข้าประเภทดื้อตาใสก็มี หรือตอบโต้บุคคลที่ตนเองไม่ชอบหน้าไม่ได้เลย แสดงตอบโต้กับสิ่งอื่นๆ หรือคนอื่น เช่น ทำลายสิ่งของเครื่องใช้ ทำร้ายสัตว์เลี้ยง เป็นต้น 3. การปรับตัวแบบหนี การปรับตัวแบบหนีเป็นวิธีการที่บุคคลไม่ต้องการที่จะเผชิญหน้ากบสิ่งที่ทำให้จิตใจไม่ปกติ จึงหาวิธีหลบหลีกให้พ้นจากเหตุการณ์นั้นๆ เพราะนั้นไม่ได้ที่จะทำให้จิใจไม่สบาย การหนีมี 2 ประการได้แก่ การหลบหรือถดถอย การอยู่ตามลำพัง การไม่ต่อต้านด้วย หรืออาจเป็นวิธีการที่ตัวเองยังอยู่แต่จิตใจไม่รับรู้ ซึ่งเรียกว่า ใจหนีไป ตัวอย่างนักเรียนนั่งฟังครูสอนแต่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น