วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการปรับตัวและการดำเนินชีวิต



ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการปรับตัวและการดำเนินชีวิต
บรรณานุกรม
นิภา นิธยายน.(2520).การปรับตัวและบุคลิกภาพจิตวิทยาเพื่อการศึกษาและชีวิต.กรุงเทพฯ:สารศึกษาการพิมพ์



คุณลักษณะพิเศษข้อหนึ่งซึ่งปรากฏเฉพาะในตัวมนุษย์ ได้แก่ ความต้องการที่จะรู้จักและเข้าใจในตัวเองรวมทั้งโลกที่ตนอาศัยอยู่ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ความรู้สึกเช่นนี้ยังผลให้มนุษย์พากเพียรแสวงหาความเข้าใจในตนเองมาแต่แรกเริ่ม เริ่มต้นจากการที่มนุษย์ในยุคโบราณมีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับตนเองหนักไปในด้านความต้องการด้านร่างกาย เพื่อความอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภยันตรายของยุคสมัยนั้นเรื่อยมา ในปัจจุบันนี้ความเจริญทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยีได้ทำให้สภาพสังคมเปลี่ยนไปจนถึงขั้นที่มนุษย์สามารถเอาชนะ และควบคุมธรรมชาติแวดล้อม หรือสภาวะทางกายภาพได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นในโลกสมัยใหม่ซึ่งสภาพสังคมเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงได้หันเหความสนใจจากความธรรมชาติมาสู่ปัญญาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องทำความเข้าใจให้ได้ ในสมัยปัจจุบันยิ่งมนุษย์สามารถเอาชนะความยากจน โรคภัยไข้เจ็บและภัยธรรมชาติต่างๆอาทิเช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง แผ่นดินไหว ได้มากเท่าไรก็ยิ่งมีเวลาที่จะทุ่มเทความสนใจและความมานะพยายามในการคิดค้น และศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตในสังคมมากขึ้นเพียงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแสวงหาความเข้าใจในตนเองในแง่ความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งเรื่องความรู้สึกนึกคิด หรือสภาวะทางจิตของตนนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่อมนุษย์ในสังคมที่เจริญแล้วมากกง่ามนุษย์ที่ยังด้อยพัฒนา ซึ่งถือการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ในปัจจุบันนี้มีผู้สนใจศึกษาค้นคว้ากันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับปัญหาความทุกข์ใจและความข้องคับใจ ตลอดจนพยายามคิดค้นวิธีการหรือกลวิธีต่างๆเพื่อใช้ในการปรับตัวหรือเผชิญปัญหาและอุปสรรคนานาประการที่เกิดขึ้นในชีวิตทั้งนี้โดยมุ่งหมายให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข และประสบความสำเร็จในโลกหรือสังคมสมัยใหม่ที่ทั้งเจริญก้าวหน้าและสับสนวุ่นวายเช่นที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
ประวัติความเป็นมาของความรู้เรื่องการปรับตัว
สมัยก่อนมักจะมีคำกล่าวในทำนองที่ว่า “คนนั้นเป็นคนดี” หรือ “คนนั้นเป็นคนบ้า” ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีตามความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นสมัยนั้นว่าบุคคลผู้ถูกกล่าวขวัญถึงนั้นเป็นคนปกติธรรมดาหรือมีความผิดปกติจากคนธรรมดาสามัญทั่วไป ด้วยเหตุใดๆก็ตาม เช่นถูกภูตปีศาจเข้าสิง ถูกสะกดด้วยเวทมนต์คาถา หรือถูกครอบงำด้วยอำนาจทางไสยศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งอันทำให้สติฟั่นเฟือนและควบคุมจิตใจไม่อยู่ แต่ในสมัยปัจจุบัน คำกล่าวข้างต้นจะเปลี่ยนรูปใหม่เป็น “คนนั้นปรับตัวได้” หรือ “คนนี้ปรับตัวไม่ได้” ซึ่งมนุษย์ในสมัยโบราณไม่สามารถเข้าใจความหมายใหม่นี้ได้อย่างแน่นอน ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการ
ปรับตัวนี้เป็นผลผลิตใหม่อย่างหนึ่งของยุคแห่งความเจริญทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ หรือกล่าวได้ว่าความคิดเกี่ยงกับเรื่องการปรับตัวของมนุษย์ตั้งต้นจากจุดที่ Darwin ได้ประกาศผลค้นคว้าของเขาเกี่ยวกับทฤษฎีแห่งวิวัฒนาการและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตในกลางศตวรรษที่ 19
ประวัติความเป็นมาของความรู้เรื่องการปรับตัวนี้จึงนับได้ว่ามีจุดเริ่มต้นจากการที่มนุษย์ในสมัยโบราณมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจอย่างรุนแรง หรือวิกลจริต เช่นที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า “คนบ้า” ดังได้กล่าวแล้วนี่เอง ความทุกข์ใจความเคร่งเครียดใจที่นักจิตวิทยาสมัยใหม่รวมเรียกว่าความข้องคับใจนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่พ้นไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดนับแต่โบราณกาลมาแล้ว
มนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์คงจะได้สังเกตอิทธิพลแห่งจิตที่มีต่อร่างกายมาช้านานแล้วจึงได้ตั้งตนเป็นพ่อมดหมอผี ผู้วิเศษ คนทรงเจ้าเข้าผี หรือผู้มีอำนาจลึกลับทางไสยศาสตร์และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสมัยโบราณเรื่อยมาในการเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆขึ้นซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปในแง่ความคิดค้นและพยายามที่จะใช้อำนาจจิตบำบัดอาการป่วยทางกายตลอดจนควบคุมพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ แม้ในสมัยนี้ซึ่งเป็นสมัยแห่งความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ชนบางหมู่บางเหล่าก็ยังยึดมั่นในพิธีกรรมทางไสยศาสตร์อย่างมั่นคงไม่มีเสื่อมคลาย นักประวัติศาสตร์และจิตแพทย์หลายคน ผู้ศึกษาประวัติความเป็นมาขอวิชาจิตเวชต่างก็ย้ำความจริงที่ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งรวมถึงสาขาจิตเวชด้วยนั้นมีประวัติความเป็นมาสืบเนื่องมาจากบรรดาพ่อมดหมอผี หรือเจ้าแห่งเวทมนต์คาถาผู้ตั้งตนเป็นหมอรักษาผู้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บทางกาย หรือผู้ป่วยทางจิตนี่เอง
ในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกสาขาเจริญก้าวหน้าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ความเชื่อทางไสยศาสตร์และอำนาจลี้ลับต่างๆ มนุษย์ได้ใช้เหตุผลและการสังเกตของจริงในการศึกษาแทนที่จะหลงเชื่องมงายในอิทธิพลลึกลับที่ไม่อาจเข้าใจหรือไม่บังอาจแตะต้องได้เช่นแต่ก่อนและจากข้อมูลต่างๆที่ค้นคว้ารวบรวมได้นี้ นักวิทยาศาสตร์จึงได้วิเคราะห์และตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้ในวิชาสาขาต่างๆขึ้น อาทิเช่น วิชาเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยาเป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาตรวจสอบพฤติกรรมของมนุษย์อีกด้วยแต่ว่าอาจจะเนื่องมาจากเหตุที่ว่า มนุษย์มีความเชื่อฝังเชื่อมาแต่ดั้งเดิมว่าพฤติกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ และอยู่นอกขอบเขตของวิทยาศาสตร์ ดังนั้นการศึกษาในเรื่องนี้โดยอาศัยหลักวิชาวิทยาศาสตร์จึงเป็นไปล่าช้ากว่าวิชาสาขาอื่น ผู้คนเพิ่งเริ่มตื่นตัวมากขึ้นนับตั้งแต่ Darwin ได้ประกาศทฤษฎีแห่งวิวัฒนาการในกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ประจวบกับในครึ่งหลังสตวรรษที่ 19 นั้นได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป ซึ่งนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อันน่าตื่นเต้น อีกทั้งใน ค.. 1860 นักวิทยาศาสตร์และปรัชญาเมธีเยอรมันผู้มีชื่อเสียงคือ Sigmund Freud ซึ่งได้เริ่มศึกษาจิตใจของมนุษย์โดยการวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์ ผลงานค้นคว้าของเขาได้นำไปสู่ทฤษฎีจิตวิเคราะห์อันยังผลให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับบุคลิกภาพและพฤติกรรมของคนเรานั่นเอง สรุปได้ว่าเพิ่งจะเป็นที่ยอมรับกันในปลายศตวรรษที่ 19 นี้เองว่าในการศึกษาเรื่องพฤตกรรมของมนุษย์นี้เราสามารถใช้วิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์ศึกษาได้เป็นอย่างดี และจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วนี่เองวิชาจิตวิทยาจึงได้รับการรับรองว่าเป็นวิทยาการสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ
ในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์นี้นักจิตวิทยาได้เน้นหนักเกี่ยวกับสาเหตุทางชีววิทยาแต่แต่ละบุคคลและอิทธิพลของสังคม การศึกษาวิจัยของนักจิตวิทยาบางพวกในปัจจุบันได้เน้นหนักเกี่ยวกับสภาวะพื้นฐานทางชีววิทยาของบุคคลว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหายุ่งยากและความล้มเหลวในการปรับตัวในขณะเดียวกัน นักจิตวิยาอีกพวกหนึ่งกลับมีความเห็นว่าสภาวะแวดล้อมทั้งทางกายภาพ และทางสังคมมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ อย่างไรก็ดีนักจิตวิทยาผู้ศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพและการปรับตัวส่วนใหญ่ทั่วๆไปต่างยอมรับความสำคัญของอิทธิพลร่วมระหว่างสองสิ่ง คือสภาวะพื้นฐานทางชีววิทยาของบุคคลกับสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าทุกคนเกิดมาพร้อมด้วยโครงสร้างทางชีววิทยาที่แตกต่างกัน และเติบโตในสิ่งแวดล้อมซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นต่างๆกัน ดังนั้น แต่ละคนจึงแสดงพฤติกรรมออกมาในลักษณะแตกต่างกัน
นอกเหนือจากอิทธิพลร่วมระหว่างสองสิ่งนี้แล้ว ในชีวิตที่ผ่านมาแต่ละคนยังได้รับประสบการณ์ทั้งในแง่ส่วนตัวและในแง่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งมีส่วนสร้างบุคลิกลักษณะที่เป็นแบบเฉพาะตัวขึ้นมาด้วยประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตที่ผ่านมาของแต่ละคนย่อมไม่ซ้ำกับผู้ใด เช่น บางคนประสบความรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงเนื่องจากความล้มเหลวในขณะที่บางคนประสบความสำเร็จและความภาคภูมิใจ หรือบางคนสะสมความรู้สึกเก็บกดไว้เป็นเวลายาวนาน หรือบางคนต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมบางอย่างในชีวิตที่ผ่านมาเป็นต้น ส่วนประสบการณ์ร่วมนั้นหมายถึงการที่เราได้รับประสบการณ์บางอย่างที่คล้ายคลึงกับผู้อื่น ทั้งนี้อาจจะเป็นผลเนื่องจากการอยู่ร่วมสังคมเดียวกันภายใต้อิทธิพลทางวัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งมีส่วนทำให้คนเราได้รับประสบการณ์คล้ายคลึงร่วมกันเกี่ยวกับแผนปฏิบัติในด้านต่างๆ เช่น การดำเนินชีวิต และการเรียนรู้ปรัชญา และค่านิยมของสังคมนั้นๆเป็นต้น
กล่าวโดยสรุปได้ว่าตามหลักการวิชาจิตวิทยาสมัยใหม่ การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ตามหลักเกณฑ์วิทยาศาสตร์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาสภาวะทั้งสามด้านของมนุษย์ คือศึกษาและสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์โดยพิจารณาสภาวะพื้นฐานทางชีววิทยา เช่น สภาวะทางกาย ละอิทธิพลของพันธุกรรมประกอบกับสภาวะทางจิตอันเกิดจากประสบการณ์ทั้งหลายในชีวิตร่วมกับสภาวะแวดล้อมของแต่ละบุคคลด้วย
นักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับสภาวะทางจิตและการปรับตัวของมนุษย์ต่อเนื่องกันตลอดมา บางครั้งผลการวิจัยค้นคว้าที่นักจิตวิทยาคนหนึ่งได้สรุปหรือตั้งเป็นทฤษฎีไว้และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในระยะหนึ่งอาจถูกหักล้างในเวลาต่อมโดยนักจิตวิทยาอีกคนหนึ่งซึ่งทำการศึกษาค้านคว้าและพบว่าทฤษฎีที่ตั้งไว้ก่อนหน้านั้นไม่ถูกต้องก็ได้ การที่ปัญหาเกี่ยวกับสภาวะทางจิตของมนุษย์และการปรับตัวเป็นปัญหาที่ยังหาข้อยุติที่แน่นอนเด็ดขาดลงไปยังไม่ได้ดังกล่าวนี้จึงเท่ากับเป็นการยั่วยุ หรือท้าทายบรรดานักจิตวิทยาทั้งหลายให้เสาะแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยการศึกษา และค้นคว้าวิจัยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีความมุ่งหมายที่จะได้มาซึ่งความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความมุ่งหมายสำคัญอีกข้อหนึ่งนอกเหนือจากนี้ก็คือ นักจิตวิทยาตระหนักดีว่าความรู้แล้วความเข้าใจในวิชาจิตวิทยาอำนวยคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่มนุษย์เพราะการที่มนุษย์มี่ความเข้าใจในเรื่องต่างๆของตัวมนุษย์เอง เช่น การแสดงออกของพฤติกรรมและสาเหตุของพฤติกรรม อิทธิพลของพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ความต้องการของมนุษย์ทั้งทางกายและทางจิต ปัญหาและความข้องคับใจตลอดจนการปรับตัวและการพัฒนาบุคลิกภาพ เหล่านี้ย่อมทำให้มนุษย์รู้จักตัวเองมากขึ้น และมีความเข้าใจตัวเองถูกต้องและลึกซึ้ง อันเป็นผลให้มนุษย์สามารถปรับตัวในการดำเนินชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ดีกว่าสมัยก่อน
ความหมายของการปรับตัว
Lazarus (1969) ได้อธิบายความเป็นมาของการปรับตัวว่ามีกำหนดเริ่มแรกมาจากวิชาชีววิทยา กล่าวคือ Darwin เป็นคนเริ่มใช้คำว่า “การปรับตัว” ในทฤษฎีว่าด้วยการวิวัฒนาการของเขาใน ค..1859โดยได้สรุปความคิดว่า สิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมของโลกที่เต็มไปด้วยภยันตรายได้เท่านั้นที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ต่อมานักจิตวิทยาได้ขอยืมคำว่า “การปรับตัว” ทางชีววิทยามาใช้ในความหมายทางจิตวิทยาในการศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์นี้จำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องการปรับตัวทั้งในแง่ชีววิทยาและจิตวิทยา ในแง่ชีววิทยาได้แก่ การปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการของร่างกาย ส่วนในแง่จิตวิทยาหมายถึงการปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการของจิตใจ ตัวอย่างของการปรับตัว เช่น การที่มนุษย์รู้จักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศเพื่อให้ร่างกายมี่ความอบอุ่นพอดี ลักษณะของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ก็มีแบบต่างๆกันไปทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะดินฟ้าอากาศและภาวะแวดล้อมเช่นกัน นอกจากนี้มนุษย์ยังแสดงให้เห็นความสามารถในการปรับตัวตามสภาวะที่เป็นอยู่ เช่น ชาวเอสกิโมในแถบอาร์คติคสร้างบ้านด้วยน้ำแข็งและหิมะเป็นต้น
ช่วงวัยวิกฤตแห่งการปรับตัว
โดยปกติแล้ววิกฤตการณ์หรือปัญหายุ่งยากในการปรับตัวอาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะในชีวิตวัยใดๆได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะที่เหตุการณ์ร้ายแรงได้เกิดขึ้น และมนุษย์ต้องปรับตัวตามสภาวะแวดล้อมของตนตลอดชีวิต แต่อย่างไรก็ตามในบรรดาวัยต่างๆของชีวิตวัยรุ่นเป็นวัยซึ่งคนเราประสบปัญหาและเผชิญวิกฤตการณ์ในการปรับตัวที่คล้ายคลึงร่วมกันมากกว่าวัยอื่น
วัยรุ่นจริงๆนั้นนับเริ่มจากจุดที่เด็กบรรลุความเจริญเต็มที่ทางเพศ หรือความเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ตอนอายุประมาณ 13 ปีเรื่อยไปจนถึงจุดที่กฎหมายยอมรับว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว คือเป็นอิสระพ้นจากความคุ้มครองของผู้ใหญ่ เช่น บิดามารดา และสามารถรับผิดชอบและปกครองตัวเองได้แล้ว อีกทั้งมีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งอีกด้วย จุดที่เด็กเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอันเป็นระยะนำเข้าสู่วัยรุ่นนั้นก็เร็วช้าต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ส่วนจุดบรรลุความเป็นผู้ใหญ่ทั้งทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และการสังคมก็เร็วช้าต่างกันไปเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับสติปัญ
าของเด็กเองและสิ่งแวดล้อมของเด็กในช่วงวัยรุ่นที่ส่งเสริมการปรับตัวของเด็กให้เข้าสถานภาพการณ์ของผู้ใหญ่มากน้อยเพียงไร ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่นๆ โดยทั่วไป ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย กฎหมายยอมรับว่าผู้มีอายุครบ20ปีบริบูรณ์เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ฉะนั้นโดยปกติเรานิยมถือว่าอายุย่าง 21ปีเป็นตอนสิ้นสุดของวัยรุ่น และเป็นจุดเริ่มย่างก้าวสู่วัยผู้ใหญ่
กระนั้นก็ดี ตามสภาพความเป็นจริงแล้วเราจะพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เดียวที่ยังไม่บรรลุภาวะความเป็นผู้ใหญ่ทั้งๆที่อายุย่าง 21 ปีตามขีดกำหนดข้างต้นแล้วก็ตาม นักการศึกษาส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ช่วงอายุระหว่าง 15-25 ปี ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างวัยรุ่นตอนปลายกับวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นช่วงวัยสำคัญของชีวิตที่คนเราจะประสบความยุ่งยากหรือวิกฤตการณ์ในการปรับตัวมากที่สุด เพราะในสังคมปัจจุบันคนหนุ่มสาวในช่วงวัยนี้ยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เขายังมรภาระมากมายหลายด้านที่ต้องพยายามปฏิบัติให้ลุล่วง เช่น การสร้างแบบแผนการปรับตัวและบุคลิกภาพที่ดี การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสร้างฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม และการตัดสินใจเลือกค่านิยม เพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิต ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความผิดปกติทางจิตประเภทจิตเภท (Schizophrenia) มักจะเป็นในวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมากกว่าวัยอื่นๆ
หากจะเปรียบชีวิตวัยรุ่นกับความสดชื่นและเขียวชอุ่มของธรรมชาติก็คงจะไม่ผิด เพราะว่าวัยนี้เป็นวัยแห่งโอกาสทองของชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหวังและพลัง และเป็นช่วงที่เด็กหนุ่มเด็กสาวจะตักตวงความสุขความสำเร็จไว้ให้มากที่สุด กระนั้นก็ดีเราต้องไม่ลืมว่าวัยนี้เป็นวัยแห่งปัญหาและความยุ่งยาก หรือความล้มเหลวสำหรับชีวิตของเด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
เป็นที่ยอมรับกันว่าวัยรุ่นเป็นรยะเวลาซึ่งชีวิตประสบความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และการสังคม ได้เรียกวัยนี้ว่า “วัยพายุบุแคม” เพราะวัยนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตจากความเป็นเด็กเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาวซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในเวลาต่อไป และเป็นวัยซึ่งเด็กมีอารมณ์รุนแรง มีความต้องการ และแรงผลักดันตามธรรมชาติของหนุ่มสาวอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ความคิดอ่านอันสืบเนื่องจากความเจริญของสมองมีมากขึ้นและลึกซึ้งขึ้นตามลำดับ ความสัมพันธ์ทางสังคมขยายขอบเขตออกไปจากวัยเด็ก เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองมากขึ้น เช่น บทบาทและสถานะของตนในสังคม เด็กต้องเผชิญปัญหาและข้อขัดแย้งมากมายหลายด้านในช่วงวัยรุ่นนี้ บางครั้งเขาจะรู้สึกเบิกบาน แจ่มใส แข็งแกร่งเต็มไปด้วยความหวังและพลัง แต่บางครั้งกลับรู้สึกวิตกกังวลใจ เคร่งเครียดหรือผิดหวังท้อแท้ เขาจะรู้สึกว้าวุ่นใจเกี่ยวกับฐานะหรือบทบาทของตนในชีวิต เช่น จะทำอะไร จะเรียนอะไรหรือจะเลือกอาชีพอะไรจึงจะเหมาะแก่ตนเองเป็นต้น ในวัยนี้ปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ การแต่งาน ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เด็กต้องเรียนรู้ละตัดสินใจ ปัญหาที่เด็กวัยรุ่นต้องเผชิญยังมีอีกมมกมายนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้
สิ่งต่างๆที่เด็กต้องเรียนรู้และเผชิญในวัยรุ่นเหล่านี้ นักจิตวิทยาหลายท่านถือว่าเป็นภาระอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับพัฒนาการของวัยที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติทางร่างกายและจิตใจในวัยนี้ และเป็นหน้าที่ของเด็กวัยรุ่นที่พึงเรียนรู้ และปฏิบัติให้สำเร็จลุล่วงอันจะช่วยให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานภาพของความเป็นผู้ใหญ่ได้ในที่สุด
การศึกษาปัญหาการปรับตัวของเด็กวัยรุ่นทั้งในประทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อเท็จจริงตรงกัน กล่าวคือ เด็กวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มแรกรุ่นระหว่างอายุประมาณ 13-14 ปี มักไม่ประสบปัญหาร้ายแรงถึงขั้นล้มเหลวขนาดเป็นโรคจิต โรคประสาท หรือมีบุคลิกภาพแปรปรวนอันแสดงออกทางพฤติกรรมการปรับตัวแบบผิดๆ ซึ่งเบี่ยงเบนจากมาตรฐานอันดีงามของสังคม อาทิ การก้าวร้าวและประพฤติตนเป็นอันธพาล การติดสุรายาเมา หรือยาเสพติดและกามวิปริตซึ่งล้วนแต่นำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย วิ่งราว จี้ปล้น หรือข่มขืนเป็นต้น วิกฤตการณ์แห่งการปรับตัวดังกล่าวนี้มักจะเกิดแก่เด็กวัยรุ่นอายุเกิน 14 ปีขึ้นไปแทบทั้งสิ้น จากการศึกษาเด็กและเยาวชนไทยที่กระทำผิดในลักษณะต่างๆเช่น ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย หรือความผิดเกี่ยวยาเสติดซึ่งถูกส่งตัวมายังสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ปรากฏว่าส่วนใหญ่ประมาณ 80-90% มีอายุอยู่ในข่ายที่เรียกว่า เยาวชน ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.. 2494 หมายถึงบุคลอายุเกินกว่า 14ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ส่วนผู้กระทำผิดที่ยังถือว่าเป็นเด็กคืออุต่ำกว่า 14 ปีบริบูรณ์ มีจำนวนน้อยมาก ทั้งนี้นับว่าใกล้เคียงกับข้อมูลจากการศึกษาบางอันเกี่ยวกับปัญหาเด็กวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ชี้ให้เห็นความล้มเหลวในการปรับตัวของเด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยในช่วงอายุระหว่าง 15-19 ปี ซึ่งมีจำนวนสูงถึงประมาณ 40% ที่ปรับตัวไม่สำเร็จ และเกิดความผิดปกติทางจิตถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโรคจิต ส่วนเด็กวัยรุ่นระหว่างอายุ 10-14 ปี เข้าโรงพยาบาลโรคจิตน้อยมากเพียง 4% ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเด็กอายุ 10-14 ปี เพิ่งเริ่มเผชิญปัญหาซึ่งเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น แต่ระหว่างอายุ 15-19 ปีนั้นปัญหาที่ได้เริ่มต้นมาแล้วจะค่อยๆหยั่งรากลึกลงไปทุกที หากเด็กไม่อาจแก้ปัญหานั้นๆให้ลุล่วงไปได้ ดังนั้นในช่วงอายุตอนนี้จึงกลายเป็นโรคประสาทโรคจิต และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโรคจิต หรือจากจิตแพทย์ตามคลินิก นอกจากนี้ยังปรากฏว่าเด็กวัยรุ่นจำนวนมากมายแต่ไม่ปรากฏตัวเลขที่แน่นอนประสบความกลัดกลุ้มและทุกข์ใจจนต้องหาทางออกต่างๆ เช่น ฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย ประสาทหลอน กลาเป็นอาชญากรวัยรุ่น ประพฤติตนแบบลักเพศ หันเข้าหาสุรายาเมา และยาเสพติดประเภทต่างๆหรือจับกลุ่มตั้งแกงค์ และแยกตัวจากสังคมหันหลังให้ระเบียบและกฎเกณฑ์ของสังคมเสียสิ้นเชิง และในจำนวนเด็กวัยรุ่นที่เป็นเช่นนี้ จากการศึกษาได้พบว่ามีเด็ดที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดระดับธรรมดา และสูงเป็นพิเศษรวมอยู่ด้วยมากมาย แต่เนื่องไม่สามารถปรับตัวได้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันเป็นช่วงวิกฤตการณ์แห่งการปรับตัวที่สำคัญนี้ อีกทั้งอาจไม่ได้รับการแนะแนวทางการดูแลเอาใจใส่ และความเข้าใจอันดีจากบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องดีพอชีวิตจึงต้องประสบความล้มเหลวเช่นนี้
อนึ่งการที่เราถือว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยวิกฤติแห่งการปรับตัวก็ด้วยเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ วัยรุ่นเรียกได้ว่าเป็นโอกาสสุดท้ายหรือเกือบสุดท้ายของชีวิตสำหรับการแก้ไขปรับปรุงแบบพฤติกรรมการปรับตัวให้เข้ารูปเข้ารอย เพื่อเป็นรากฐานที่ดีและมั่นคงของบุคลิกภาพิการปรับตัวที่ดีในวัยรุ่นย่องยังผลให้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่มีความสุขและความสำเร็จ อันที่จริงการปรับตัวที่ดีควรจะต้องเริ่มพัฒนามาแต่วัยเยาว์ แต่กระนั้นดีแม้ว่าเด็กบางคนมิได้แชประสบความสำเร็จในการปรับตัวในวัยเยาว์ก็ตาม เด็กก็ยังมีโอกาสสำหรับการปรับปรุงแก้ไขลักษณะสำคัญๆทางบุคลิกภาพมักจะทำได้ยากเสียแล้ว เนื่องจากเหตุผลที่ว่า ปัญหายุ่งยากในการปรับตัวของคนวัยผู้ใหญ่มักจะหยั่งรากลึกจนเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ซึ่งผิดกับปัญหาของเด็กในวัยรุ่น ซึ่งยังพอมีการปรับปรุงแก้ไขได้ เข้าทำนองคำกล่าวที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” นี่เอง คนนอกจากนี้เราจะเห็นได้ว่าคนเราคนเราเมื่อล่วงเข้าวัยผู้ใหญ่แล้ว โอกาสที่จะได้รับการโอบอุ้มช่วยเหลือจากพ่อแม่ ครู อาจารย์ หรือหน่วยสงเคราะห์ในรูปต่างๆจากองค์การรัฐบาลหรือเอกชน ย่อมมีน้อยกว่าในวัยรุ่นอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะสังคมได้กำหนดไว้ว่าวัยผู้ใหญ่เป็นวัยที่คนเราเจริญเติบโตพอที่จะรับผิดชอบชีวิตตัวเองได้แล้วในทุกกรณี
สภาพการณ์ของชีวิตที่จำเป็นต้องมีการปรับตัว
มนุษย์ทุกคนมีความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างเดียวกัน ความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานนี้เกิดจากแรงผลักดันสองอย่างที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ แรงผลักดันภายนอกและแรงผลักดันภายใน ดังจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานอันเกิดจากแรงผลักดันทั้งสิ้น เช่น การพยายามปรับตัวให้เป็นไปตามสภาพแวดล้อม และความต้องการของสังคม รวมทั้งความต้องการที่เกิดขึ้นภายในใจของตนเองด้วย
อนึ่งในการตอบสนองความต้องการที่เกิดจกแรงผลักดันดังกล่าวนี้ มนุษย์ต้องเผชิญกับภาวะเคร่งเครียดกดดันต่างๆ เช่น ความหวั่นกลัวอันตราย ความรู้สึกข้องคับใจและความวิตกกังวลนานาประการ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความล้มเหลว หรือความรู้สึกขัดแย้งที่เกิดขึ้นในใจ ฉะนั้นในภาวะเคร่งเครียดกดดันมนุษย์จำเป็นต้องหาทางออกหรือวิธีแก้ปัญหาเพื่อขจัดหรือผ่อนคลายอารมณ์เคร่งเครียดลง การหาทางออกหรือวิธีแก้ปัญหาต่างๆรวมเรียกว่า กระบวนการปรับตัว
ในบทนี้จะได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องแรงผลักดันภายนอกและภายใน ความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ลักษณะธรรมชาติของความเคร่งเครียดโดยทั่วๆ ไปรวมทั้งสิ่งสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเคร่งเครียด อาทิ ความข้องคับใจ ความหวั่นกลัวอันตราย ความรู้สึกขัดแย้งในใจและความวิตกกังวล ซึ่งสิ่งต่างๆทั้งหลายนี้ก่อให้เกิดสภาพการณ์ของชีวิตที่จำเป็นต้องมีการปรับตัว
แรงผลักดันที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต
ในการดำเนินชีวิตมนุษย์ทุกคนต้องเผชิญกับแรงผลักดันซึ่งมีอิทธิพลสำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่องการปรับตัว 2 อย่างคือ
1.แรงผลักดันภายนออก หรือข้อเรียกร้องอันเกิดจากสภาพแวดล้อม และสังคม
2.แรงผลักดันภายใน หรือแรงกระตุ้นอันเกดจากสภาพทางสรีระภายในร่างกายและจากประสบการณ์ทางสังคมที่ได้เรียนรู้ในอดีตที่ผ่านมา
หากมนุษย์สามารถดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามแรงผลักดันทั้งสองอย่างได้ ทุกอย่างย่อมราบรื่น แต่ในชีวิตจริงแรงผลักดันหรือข้อเรียกร้องต่างๆมักจะเกิดข้อขัดแย้งกัน เช่นใจตนเองปรารถนาจะทำสิ่งนี้ แต่สังคมไม่เห็นชอบด้วยเป็นต้น ดังนั้นมนุษย์จึงจำต้องมีการปรับตัวเมื่อเกิดความขัดแย้ง และความข้องคับใจขึ้น
1.แรงผลักดันภายนออก
ประการแรกได้แก่ความต้องการของร่างกายที่ต้องการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การดำเนินชีวิตของคนเราเป็นการปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการ หรือข้อเรียกร้องของร่างกาย เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยดีในสภาพแวดล้อม ดังจะเห็นได้ว่าเด็กเล็กๆ เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว และรู้จักปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงความป่วยไข้ ความเจ็บปวด หรือภัยอันตรายต่างๆ ทีละน้อยเรื่อยมา เมื่อเด็กยิ่งเติบโตขึ้นและรู้จักคิดกว้างขวางลึกซึ้งขึ้นก็จะพบว่าข้อเรียกร้องจากภายนอกที่เป็นแรงผลักดันของชีวิตยิ่งมีมากมาย ซึ่งรวมทั้งเหตุการณ์ที่จะเกิด แต่ยังมิได้เกิดในปัจจุบันด้วย ในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมนี้คนเราได้เรียนรู้ความผิดหวังไม่เฉพาะในเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น หากรวมถึงเรื่องร้ายแรงใหญ่ๆ ด้วย เช่น วกฤตการณ์ต่างๆ ที่สร้างความรู้สึกกดดันเคร่งเครียดแก่จิตใจ อาทิ น้ำท่วม ไฟไหม้ สงคราม แผ่นดอนไหว และโรคภัยที่ทำให้เกิดความพิการ หรือถึงแก่ความตายในที่สุดเป็นต้น
ประการที่สอง แรงผลักดันภายนอกเกิดจากข้อเรียกร้องของสังคมหรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์กัน นับตั้งแต่การที่เด็กเล็กๆ เริ่มปรับตัวตามข้อเรียกร้องของสังคมในเรื่องง่ายๆ เช่น การเรียนรู้วิธีรับประทานอาหารด้วยมือ ช้อนส้อม และมีด หรือตะเกียบเป็นต้น ผู้ใหญ่ในสังคมเช่น บิดามารดาจะเริ่มสั่งสอนให้เด็กทำสิ่งนี้ และห้ามทำสิ่งนั้นหรือให้คิดอย่างนี้และห้ามคิดอย่างนั้น สุดแล้วแต่แบบแผนของแต่ละสังคม เมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นก็จะยิ่งพบข้อเรียกร้องของสังคม ซึ่งยุ่งยากและวับซ้อนมากยิ่งขึ้นโดนเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ซึ่งมีระเบียบวัฒนธรรมที่เจริญก้าวหน้า เช่น การที่เด็กในสังคมสมัยใหม่จะต้องเข้าโรงเรียนเพื่อเรียนรู้การอ่าน การเขียนภาษา และประวัติความเป็นมาของสังคม อีกทั้งความรู้วิชาการและลักษณะค่านิยมที่สังคมนั้นยอมรับ ตลอดจนการเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในสังคม และบทบามหน้ามี่ต่างๆ ของคนในสังคมตามมาตรฐานที่สังคมกำหนดขึ้น
ข้อเรียกร้องของสังคมมีมาตรฐานต่างๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบแผนของระเบียบประเพณี และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว แบบแผนที่กำหนดให้เด็กเรียนรู้ยังอาจจะแตกต่างกันได้เช่นกัน เด็กอเมริกา เด็กไทย เด็กญี่ปุ่นเรียนรู้การทักทายด้วยการโค้งศีรษะซึ่งยิ่งโค้งต่ำเพียงไรยิ่งแสดงความสัมพันธ์ใกล้ชิดเพียงนั้น ส่วนเด็กไทยได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักขนบประเพณีการกราบไหว้ ในขณะที่เด็กทางตะวันตกเรียนรู้การสัมผัสมือเป็นต้น ระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมซึ่งกำหนดแบบแผนหรือ ข้อเรียกร้องให้คนในสังคมปฏิบัติตามนี้เป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลสมัยเรื่อยมา
ความล้มเหลวในการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสังคมย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ใจ หรือภาวะเคร่งเครียดกดดันในจิตใจได้มากน้อยต่างกันไปแล้วแต่จารีตประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละสังคมจะเป็นผู้กำหนด สังคมกำหนดโทษผู้กระทำผิดระเบียบประเพณีและมาตรฐานที่สังคมวางไว้หนักเบาต่างกันไปนับตั้งแต่การประหารชีวิต การจำคุก การปรับ การแสดงความรังเกียจ การดูหมิ่นเหยียดหยาม การเฆี่ยนตี หรือการตัดสิทธิและรางวัลที่ควรได้รับเป็นต้น โดยทั่วๆ ไปในสังคมทุกแห่ง ผู้ที่ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับความต้องการหรือมาตรฐานของสังคมมักจะได้รับผลตอบแทนที่มีคุณค่าและน่าชื่นชม เช่น การได้คะแนนสูง การได้เลื่อนชั้นหรือตำแหน่ง หรือการได้รับความยกย่องนับถือจากสังคม เท่าที่ปรากฏจะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนในวัยรุ่นปรารถนาจะได้รับความยกย่องนับถือจากสังคมมากกว่าอย่างอื่นเพราะสิ่งนี้ทำให้รู้สึกสบายใจและปลอดภัย กระนั้นก็ดีความปรารถนาที่จะได้รับความยกย่องจากสังคมมากเกินขอบเขตอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางความคิดริเริ่ม และความสามารถที่มีอยู่ในตัวได้เพราะต้องคอยระมัดระวังให้อยู่ในกรอบของสังคมตลอดเวลาจนไม่เป็นตัวเอง ไม่กล้าริเริ่มอะไรใหม่ๆ หรือยิ่งดิ้นรนทะเยอทะยานเกินกว่าเหตุจนจิตใจต้องตกอยู่ในภาวะเคร่งเครียดและความทุกข์ใจตลอดจนจากเหตุนี้ก็ได้
ปัญหาเกี่ยวกับอิทธิพลของสังคมและระเบียบวัฒนธรรมที่มีต่อการปรับตัวนี้เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจะได้อธิบายในบทที่ 6
2.แรงผลักดันภายใน ได้แก่แรงกระตุ้นภายในตัวบุคคล ซึ่งเกิดจากสภาพทางสรีระของบุคคลนั้นประการหนึ่ง และจากประสบการณ์ทางสังคมที่บุคคลนั้นได้เรียนรู้ในอดีตอีกประการหนึ่ง
ประการแรก หมายถึงแรงกระตุ้นจากภายในของแต่ละคนซึ่งเกิดจากสภาพทางสรีระของบุคคลนั้น ได้แก่ ความต้องการสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร อากาศ น้ำ ความอบอุ่น และการพักผ่อนหลับนอนที่พอเพียง ถ้าเราไม่กินอาหารเราก็จะรู้สึกไม่สบายและผลที่สุดก็จะถึงแก่ความตายหากการอดอาหารเป็นไปนานเกินควร หรือถ้าเราอดน้ำอวัยวะต่างๆภายในร่างกายก็จะขาดน้ำสำหรับหล่อเลี้ยง และเราก็อาจรู้สึกกระหายน้ำและอาจจะตายได้ในเวลาต่อมาเช่นกัน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นักสรีระวิทยาชื่อ Ancel Keys (1950) และนักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้ทำการศึกษาปฏิกิริยาของคนที่อยู่ในสภาพอดอยากโดยให้อาหารกินเพียงหนึ่งในสามส่วนที่เคยได้รับตามปกติเป็นเวลาหลายเดือน ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นยังคงต้องทำงานหนักเท่าเดิม ผลปรากฏว่า บุคลิกภาพและพฤติกรรมทางสังคมของคนกลุ่มนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เช่นกลายเป็นคนโกรธง่ายและชอบวิวาทและคิดหมกมุ่นไร้สาระเรื่องการเปลี่ยนอาชีพมาเป็นพ่อครัวหรือเจ้าของภัตตาคาร และหันเหความสนใจจากภาพนางแบบสาวที่ยั่วยวนในนิตยสารมาสู่ภาพอาหาร เช่น สลัดเนื้อสันเป็นต้น
เมื่อไม่นานมานี้ นักจิตวิทยาได้ขยายขอบเขตของความต้องการภายในเนื่องจากสภาพทางสรีระซึ่งแต่เดิมถือว่าการขาดแคลนอาหารการกินเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญของความต้องการทางด้านนี้โดยได้ระบุถึงสิ่งใหม่ที่เรียกว่า “แรงขับ” (Drives) ซึ่งมิได้มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือการรักษาดุลทางสรีระเข้าไว้ในความต้องการข้อนี้ด้วย อาทิเช่นแรงขับในด้านความอยากรู้อยากเห็นที่ก่อให้เกิดการสำรวจค้นคว้าเป็นต้น
แรงกระตุ้นภายในประการที่สองเป็นผลของประสบการณ์ทางสังคมที่บุคคลได้เรียนรู้ในชีวิตที่ผ่านมา ฉะนั้นจึงเรียกได้อีกนัยหนึ่งว่า “เหตุจูงใจทางสังคม” (Social Motives) ได้แก่ความต้องการที่จะหาเพื่อนฝูง ความต้องการความรัก ความต้องการความสำเร็จ และการเป็นที่ยกย่องนับถือ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในวัยรุ่น การที่เราเติบโตในสังคมที่แตกต่างกัน และได้รับประสบการณ์ทางสังคมที่ต่างกัน ย่อมทำให้แต่ละคนเกิดความต้องการภายใน หรือเหตุจูงใจทางสังคมที่ไม่เหมือนกัน
แรงกระตุ้นภายในทั้งสองประการดังกล่าวนี้ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันในการทำให้คนเราเกิดความสุข หรือความทุกข์ ตลอดจนในการกำหนดพฤติกรรมการปรับตัวของคนเราด้วย
บทบาทของแรงผลักดันในการปรับตัว
พฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์เป็นไปเพื่อตอบสนองแรงกระตุ้นของความต้องการต่างๆ ซึ่งเกิดจากแรงผลักดันดังอธิบายมาแล้ว ความต้องกการเหล่านี้เป็นข้อเรียกร้องให้มนุษย์ต้องมีปฏิกิริยาตอบสนอง ข้อเรียกร้องบางอันมีแรงผลักดันมาก แต่บางอันมีน้อยต่างกันไปสำหรับแต่ละคน เช่น สำหรับคนบางคนความต้องการที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้มีแรงผลักดันมากกว่าแรงจูงใจในสังคม เช่น ความต้องการเป็นที่ยกย่องนับถือ ฉะนั้นเขาจะทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการข้อแรกเพื่อให้ชีวิตมีความสุขสมปรารถนา เช่น เขาอาจจะแยกตัวออกจากพรรคพวกเพื่อนฝูง และกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองโดยไม่สนใจว่าสังคมจะยอมรับการกระทำของเขาหรือไม่ หรือใครจะรังเกียจเขาอย่างไรเขาก็จะไม่แยแสและสนใจเลย แต่สำหรับบางคนตรงกันข้าม ถือว่าการได้รับความยกย่องนับถือและยอมรับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าชีวิตจิตใจ ฉะนั้นเราจะพบอยู่บ่อยๆ ว่าเด็กวัยรุ่นบางคนเมื่อสอบไล่ตก หรือบางรายเพียงถูกครูดุว่าและติเตียนต่อหน้าเพื่อนฝูงในชั้นถึงกับฆ่าตัวตายด้วยความเสียใจและอับอาย และเกรงว่าเพื่อนฝูงจะหัวเราะเยาะ เพราะตัวเองถือเรื่องความสำเร็จเป็นเรื่องสำคัญและยิ่งใหญ่ในชีวิตและถือเรื่องความล้มเหลวเป็นเรื่องร้ายแรงและน่ากลัวที่สุด นอกจากนี้บางคนมีความต้องการที่จะแสดงตนในเรื่องต่างๆ เช่น เศรษฐีกับคนขี้ตระหนี่มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะแสวงหาและเก็บรักษาข้าวของเงินทองให้มากที่สุดที่จะมากได้ แม่ชีและนักบวชมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะยึดมั่นในอำนาจบางอย่างนอกตัวที่นำไปสู่ความดีงาม เป็นต้น
ชีวิตมนุษย์มีข้อเรียกร้องที่ต้องเผชิญมากมาย ความต้องการหรือข้อเรียกร้องบางอย่างก็สอดคล้องกันเป็นอย่างดี แต่บ่อยครั้งทีเดียวที่ข้อเรียกร้องหลายๆ อย่างเกิดขึ้นพร้อมกันและขัดแย้งกันเอง ทำให้เราไม่สามารถสนองความต้องการให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องเหล่านั้นได้พร้อมๆ กันตัวอย่าง เช่น ทหารที่อยู่ในสนามรบ มีความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่รอดจากภัยอันตรายเฉพาะหน้าเพราะห่วงครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการที่จะรักษาเกียรติยศชื่อเสียงในการปฏิบัติหน้าที่ให้สมเป็นชายชาติทหารโดยต้องต่อสู้กับข้าศึกด้วยการเสี่ยงชีวิต ในกรณีเช่นนี้เรียกว่าความรู้สึกขัดแย้งได้เกิดขึ้นแล้ว และการที่เขาจะเลือกสนองความต้องการข้อใดย่อมขึ้นอยู่กับว่าข้อเรียกร้องข้อใดมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าสำหรับตัวเขา
การที่ข้อเรียกร้องภายนอกและแรงกระตุ้นภายในมีอิทธิพลผลักดันให้คนเรามากน้อยต่างกันไปนี้เป็นสิ่งกำหนดลักษณะ และความรุนแรงของการแสดงออกในกระบวนการปรับตัวของแต่ละคนมากน้อยต่างกันไปด้วย
กระบวนการหรือกลวิธีต่างๆในการปรับตัวซึ่งเป็นผลผลักดันจากข้อเรียกร้องภายนอก หรือภายในนี้อาจเรียกได้ว่า ความพยายามในการแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนเราต้องการอาหารก็จะหาให้ได้มาซึ่งอาหารด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งตามที่เขาเคยมีประสบการณ์ ในบางครอบครัวบิดามารดาเรียกร้องบุตรให้ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร บุตรก็จะปฏิบัติตาม เมื่อคนเราอยากจะประสบความสำเร็จในการศึกษาเขาก็จะพยายามศึกษาเล่าเรียน หรือ รู้จักจัดเวลาเรียนและเวลาเล่นให้เป็นสัดส่วนกัน บ้านไหนหลังคาเกิดรั่วเจ้าของบ้านก็จะเรียกช่างมาซ่อม หรือซ่อมเอง ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการปรับตัวหมายถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่คนเรากระทำเพื่อตอบสนองความต้องการทางสรีระ แรงขับ หรือแรงจูงใจต่างๆ หรือที่รวมเรียกว่า ข้อเรียกร้องภายนอกและภายในนี่เอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะคิดว่าการปรับตัวหมายถึงเพียงการแก้ปัญหาอย่างเดียวเท่านั้น หัวข้อการปรับตัวก็คงจะไม่ใช่เรื่องหลักสำคัญที่นักจิตวิทยา นักการศึกษา และจิตแพทย์ จะต้องพากันทุ่มเทความสนใจให้มากมายดังที่เป็นอยู่ และการปรับตัวก็จะเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการแก้ปัญหาด้วยสติปัญญาเท่านั้น โดยมิได้เรื่องอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ย่อมผิดจากสภาพชีวิตจริงๆ ซึ่งมีปัญหาอื่นที่สำคัญๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีกมากมายหลายอย่างในการปรับตัว เช่น เรื่องอารมณ์ ความทุกข์ทรมานขงมนุษย์พฤติกรรมที่น่าสะเทือนใจเช่น การฆ่าตัวตาย อาชญากรรม ความผิดหวังและล้มเหลวในการงาน การหย่าร้าง ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น ฉะนั้นเราจะพิจารณาเฉพาะเรื่องข้อเรียกร้อง หรือแรงผลักดันภายนอกและภายในแต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ แต่จะต้องพิจารณาสถานการณ์บางอย่างในชีวิต ซึ่งยุ่งยากและไม่สามารถจะใช้วิธีการแก้ปัญหาตามวิธีปกติธรรมดาได้ สถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในชีวิตคนเรา ซึ่งสรุปได้ว่าเป็นภาวะเคร่งเครียดใจซึ่งเราควรศึกษาให้เข้าใจ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพ
ในบทที่ 3 ได้อธิบายพอสังเขปแล้วว่า ในปัจจุบันนักการศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพได้ยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วไปว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญในการกำหนดบุคลิกภาพโดยหลักใหญ่ๆ แล้วมี 3 ประการ คือ อิทธิพลของสภาวะพื้นฐานทางกายในเชิงชีววิทยา อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม และอิทธิพลของสภาวะความเป็น “ตน” (Self) ของแต่ละบุคคลซึ่งประการสุดท้ายนี้เป็นแนวคิดล่าสุดของนักทฤษฎีบุคลิกภาพ ในปัจจัยหลัก 3 ประการนี้ยังประกอบไปด้วยปัจจัยย่อยอีกหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพ อาทิ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ลักษณะวิธีอบรมเลี้ยงดู แบบแผนของวัฒนธรรม อิทธิพลของเพื่อนฝูง ครู โรงเรียน และอุดมคติ ดังได้บรรยายโดยรายละเอียดในบทนี้
ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพ
ปัจจัยหลัก 3 ประการต่อไปนี้มีอิทธิพลร่วมกันในการกำหนดแนวทางพฤติกรรมการปรับตัวซึ่งเป็นรากฐานของบุคลิกภาพ อิทธิพลทั้งสามนี้ไม่สามารถแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดได้ แต่จะเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันและกันตลอดไปในชีวิตของคนเรา
1.อิทธิพลของสภาวะพื้นฐานทางกายเชิงชีววิทยา อันได้แก่ลักษณะพื้นฐานในการตอบโต้ และศักยภาพทางพันธุกรรมของบุคคล
2.อิทธิพลของสภาวะแวดล้อม อันได้แก่สภาวะทุกอย่างที่แวดล้อมบุคคล
3.อิทธิพลของสภาวะความเป็น “ตน” อันได้แก่การรับรู้ และความเข้าใจที่บุคคลไดรับจากประสบการณ์ทุกอย่างในชีวิตซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

1.อิทธิพลของสภาวะพื้นฐานทางกายเชิงชีววิทยา
บุคลิกภาพของคนเราบางด้านได้รับอิทธิพลจากพื้นฐานทางกายในเชิงชีววิทยา โดยทั่วๆ ไปแล้วเราจะพบว่านักจิตวิทยามักจะเน้นหนักในเรื่องผลของขบวนการเรียนรู้ และอิทธิพลของสภาวะแวดล้อมที่มีต่อการพัฒนาบุคลิกภาพและการปรับตัว ซึ่งโดยหลักความจริงแล้ว เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้เราจะต้องไม่ลืมว่ายังมีปัจจัยอื่นเริ่มแรกที่นับว่าสำคัญและมีอิทธิพลในการวางรูปและการปรับตัวให้แก่คนเรา เมื่อเริ่มก่อกำเนิดทุกคนเป็นเพียงอินทรีย์ที่มีชีวิตอย่างหนึ่งในเชิงชีววิทยา ฉะนั้นความสามารถในการแสดงพฤติกรรมการปรับตัวส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยแรกเริ่มทางด้านสภาวะพื้นฐานทางชีววิทยา อันได้แก่โครงสร้างทางกายวิภาค และการทำหน้าที่ทางสรีระภายในกายของแต่ละบุคคล เช่นการทำงานของระบบประสาท ระบบต่อมต่างๆ รูปทรง หน้าตา กระบวนการและอัตราการเจริญเติบโต อิทธิพลของพันธุกรรมอันมียีนเป็นตัวนำลักษณะต่างๆ ของบรรพบุรุษถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันเรื่อยมา ตลอดจนความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยกำเนิดในด้านต่างๆ อาทิ แรงขับ ศักยภาพ หรือพลังความสามารถในการเรียนรู้ อารมณ์ ความแข็งแรง ความคล่องแคล่วว่องไว และความเร็วช้าของการเคลื่อนไหนเป็นต้น
อิทธิพลของสภาวะด้านสรีระที่มีต่อบุคลิกภาพของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่พอจะสังเกตเห็นได้ เช่น เวลาเรารู้สึกเหนื่อยล้า เจ็บปวด หรือไม่สบาย ด้วยเหตุใดก็ตามย่อมมีผลทำให้การปรับตัวแบบที่เคยเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปได้ คนมีข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนทางร่างกายจะเผชิญปัญหาในชีวิตแตกต่างจากผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ และแข็งแรง
อิทธิพลของสภาวะทางกายต่อบุคลิกภาพนี้พอจะแบ่งได้ 2 อย่าง คือ
1.อิทธิพลโดยตรง
2.อิทธิพลทางอ้อม
1.อิทธิพลโดยตรง ได้แก่ อิทธิพลของพันธุกรรมซึ่งมียีนเป็นตัวกำหนดลักษณะโครงสร้างทางกาย อิทธิพลของการทำงานของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งมีผลทำให้ความสามารถในการคิด การรับรู้ การจดจำ การวิเคราะห์ และการวางแผนต้องเสื่อมถอย หรือบกพร่องก็มีอิทธิพลในการทำให้ความสามารถในการปรับตัวหย่อนยานไปด้วย เช่น โรคจิตบางประเภทซึ่งกระทบกระเทือนบุคลิกภาพอย่างร้ายแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ถ้าอาการร้ายแรงอาจทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงตลอดไป และไม่มีทางแก้ไขได้
2.อิทธิพลทางอ้อม หมายถึงสภาวะทางกายมิได้มีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมแต่มีผลต่อสังคมของคนเรา และผลทางสังคมนี้ทำให้พฤติกรรมการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปได้กล่าวคือ การปรับตัวของคนเราอาจเป็นไปตามเจตคติ หรือความรู้สึกและความเข้าใจที่คนเรามีต่อหน้าตา รูปทรง หรือความบกพร่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในเรื่องหน้าตา และรูปทรง เด็กที่แข็งแรงและหน้าตาดีมักจะเป็นที่เอ็นดูและชื่นชมของพ่อแม่และเพื่อนฝูง ซึ่งตรงกันข้ามกับเด็กที่รูปร่างหน้าตาไม่หน้าดู หรือบกพร่องพิการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออ่อนแอขี้โรคซึ่งมักจะปรับตัวแตกต่างจากเด็กที่แข็งแรงและมีพลานามัยบูรณ์เพราะต่างได้รับประสบการณ์ต่างกัน เด็กที่รูปร่างหน้าตาดีมักได้รับประสบการณ์ทางสังคมที่ดี เช่นได้รับการยกย่อง ชมเชยจากผู้คนทั่วไปซึ่งมีผลทำให้มีลักษณะการสังคมดี เข้าสังคมได้ ไม่เคอะเขิน ไม่เก็บเนื้อเก็บตัว หรือหงอยเหงา ตรงกันข้ามกับเด็กที่ขี้โรคผอมบางจะค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เพียงแต่จะอ่อนแอและสู้คนอื่นไม่ได้ในด้านร่างกายเท่านั้นหากยังเกิดความรู้สึกด้วยว่ารูปร่างของตนไม่มีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้อื่นอีกด้วย ฉะนั้นจึงนับว่าสภาวะทางกายแม้จะไม่มีผลโดยตรงต่อการปรับตัวแต่มีอิทธิพลทางอ้อมซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตคนเราไม่น้อย
2.อิทธิพลของสภาวะแวดล้อม
ปัจจัยที่สำคัญประการที่สองที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพได้แก่สิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ด้านใหญ่ๆ เพื่อความสะดวกในการศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่อบุคลิกภาพ การแบ่งต่อไปนี้เป็นการแบ่งตามทฤษฎีเท่านั้น แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วแต่ละด้านมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก
1.สภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ หรือ ทางกายภาพ
2.สภาวะแวดล้อมทางวัฒนธรรม
3.สภาวะแวดล้อมทางสังคม
1.สภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ หรือ ทางกายภาพ
แม้มนุษย์ทุกคนมีความต้องการที่จำเป็นและแรงขับพื้นฐานจากภายในที่คล้ายคลึงร่วมกันอยู่ก็ตาม แต่ละคนต่างก็เผชิญสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน อันมีผลให้แต่ละคนแสดงออกแตกต่างกันในการปรับตัวเพื่อสนองความต้องการหรือแรงขับภายใน ดูตัวอย่างง่ายๆ เช่นชาว Bedouen ในแถบทะเลทราย และชาว Eskimo ในแถบอาร์คติค ต่างก็เป็นผลิตผลสืบเนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางกายภาพที่แตกต่างกัน พัฒนาการทางด้านร่างกายตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมทางกายภาพที่ต่างกันทั้งสิ้นเช่น ลักษณะของดินฟ้าอากาศทำให้คนผิวดำ หรือขาว ร่างใหญ่ หรือร่างเล็ก เป็นต้นความต้องการแสวงหาอาหารและที่อยู่อาศัยทำให้คนบางพวกร่อยเร่พเนจรไปในบางแห่งของโลก บางเผ่าก็ล่าสัตว์ หรือหาปลา เป็นต้น
2.สภาวะแวดล้อมทางวัฒนธรรม
นอกเหนือจากสภาวะแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติจริงๆ แล้วจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของกลุ่ม ซึ่งคนเป็นผู้สร้างและปรับปรุงจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติก็มีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพมากเช่นกัน
วัฒนธรรมหมายถึงระเบียบแบบแผนของพฤติกรรมที่ได้เรียนรู้เป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันเรื่อยมาในคนแต่ละคนแต่ละเหล่า
เสฐียรโกเศศ” ได้อธิบายความหมายของวัฒนธรรมตามแนววิชามานุษยวิทยาโดยแยกแยะให้เห็นเป็น 4 ด้านดังนี้
1.พฤติกรรมทางสังคม ไดแก่กิริยาอาการและท่าทีที่มนุษย์ในสังคมแสดงออกเป็นนิสัยความเคยชิน เมื่อจะทำอะไร ประพฤติอย่างไร ก็มีกิริยาอาการแสดงออกเป็นอย่างเดียวกันในสังคม และรวมทั้งรู้จักใช้สิ่งซึ่งสร้างหรือทำขึ้นได้ด้วย
2.วาจาและท่าทางเมื่อพูด
3.กิจกรรม คือความไม่อยู่นิ่งในอันที่จะประกอบการงาน การเล่น หรือการกระทำใดๆ
4.ผลเกิดจากกิจกรรม อันเป็นผลิตกรรมของมนุษย์ เช่นบ้านเรือน เรือนสวน ไร่นาเครื่องใช้ ไม้สอยและอื่นๆ
3.สภาวะแวดล้อมทางสังคม
สังคมหมายถึงกลุ่มคนที่รวมตัวกันเป็นพวกเป็นเหล่า อยู่ด้วยกันที่ใดที่หนึ่ง แต่ในแต่ละกลุ่มหรือสังคม จะมีเจตคติตลอดจนแบบแผนของพฤติกรรมและจุดมุ่งหมายที่เป็นลักษณะเฉพาะประจำกลุ่มของตน
เรื่องกลุ่มสังคมนี้มีความสำคัญในการพัฒนาบุคลิกภาพของแต่ละคนมาก ดังที่นักการศึกษาชื่อ Akerman (1951) ได้สรุปข้อคิดเห็นไว้ดังนี้
สังคมเป็นเบ้าหล่อหลอมบุคลิกลักษณะของแต่ละคนขึ้นที่ละน้อย แต่สังคมจะช่วยกำหนดโครงสร้างของคุณลักษณะต่างๆ ที่จะประกอบกันขึ้นเป็นบุคลิกภาพ เมื่อคนเราเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะประกอบไปด้วยคุณลักษณะซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของตนเอง และลักษณะซึ่งเป็นแบบของสังคมนั้นๆซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะกลายเป็นลักษณะนิสัยประจำตัวที่ถาวรอยู่ตัว และเปลี่ยนแปลงได้ยากขึ้นทุกที ตัวอย่างเช่น เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในสถานเลี้ยงเด็กมักจะเจริญช้าทางด้านสติปัญญา และมีความบกพร่องทางด้านพัฒนาการทางภาษา รวมทั้งมีปัญหาในการปรับปรุงตัวเกี่ยวกับบุคลิกภาพด้วย ข้อสรุปที่ตรงกันของบรรดานักการศึกษาเด็กก็คือ การถูกพรากจากมารดาที่ให้ความรักและการโอบอุ้มเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดในวัยเยาว์มีผลกระทบกระเทือนต่อเด็กตลอดไปในแง่ที่สร้างปัญหาในการปรับตัวทางด้านอารมณ์และสังคมในภายหน้า
3.อิทธิพลของสภาวะความเป็น “ตน” (Self)
ในการศึกษาเรื่องการพัฒนาบุคลิกภาพ นอกจากจะได้พิจารณาเรื่องพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมแล้ว จำเป็นที่ต้องพิจารณาศึกษา “ตน” หรือสภาวะอันประกอบขึ้นเป็น “ตน”ด้วย เพราะสิ่งนี้เปรียบได้กับหัวใจหรือแกนกลางของบุคลิกภาพตามแนวคิดล่าสุดของนักทฤษฎีบุคลิกภาพกลุ่มหนึ่ง
ตน” (Self) ประกอบขึ้นด้วยความรู้สึกและความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งได้แก่แบบแผนของชีวิตของตนเองซึ่งเป็นแบบเฉพาะตัว ทั้งนี้หมายความครอบคลุมถึงความสามารถ ลักษณะนิสัย ความสนใจ ค่านิยมแห่งชีวิต ตลออดจนความรู้สึกเข้าใจ หรือความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสภาแห่งตน
ในเรื่องพัฒนาความเป็น “ตน” นี้ Maslow ผู้เชื่อในระบบ “ตน” ว่าเป็นแกนกลางประดุจหัวใจของบุคลิกภาพ ได้อธิบายว่า มนุษย์เรามีความต้องการเป็นลำดับขั้น 6 อย่าง ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด แต่ละขั้นจะเป็นฐานรองรับให้ก้าวขึ้นสู่ขั้นต่อไปได้ เริ่มตั้งแต่ความต้องการทางสรีระ ความต้องการความปลอดภัย ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะความต้องการความรัก ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง จนถึงความต้องการที่จะเข้าใจตนและโลกอย่างถ่องแท้ (Self -Actualization) ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่สูงสุดของชีวิต
เขาได้ทำการศึกษาบุคคลต่างๆ จำนวน 40 คนซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นผู้มีลักษณะสมบูรณ์ถึงขั้นที่สามารถเข้าใจตนเองและโลกอย่างถ่องแท้ และเขาได้สรุปคุณลักษณะสำคัญต่างๆ ของบุคคลที่เขาเรียกว่า Self-Actualizedc People ไว้ดังนี้
1.เข้าใจสภาพความจริงโดยถ่องแท้
2.ยอมรับตนเองและผู้อื่น
3.มีความเป็นธรรมชาติ ปราศจากการเสแสร้ง
4.วิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาตรงจุดไม่เข้าข้างตนเอง
5.สามารถอยู่ได้โดยลำพังตัวเองอย่างมีความสุข
6.มีความเป็นตัวเองเต็มที่ และมีอิสระ เสรีในตัวเอง
7.มองโลกและผู้อื่นรอบข้างในแง่ดีงามและสดชื่นอยู่เสมอ
8.มีความรู้สึกล้ำลึกบางอย่างภายในใจเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
9.สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
10.รู้จักเลือกเพื่อนและอุทิศตนให้เพื่อน
11.ยึดถือค่านิยมแห่งความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
12.ยึดมั่นในหลักศีลธรรมจรรยาอย่างมั่นคงในการกระทำทุกอย่าง
13.เป็นผู้มีอารมณ์ขันอย่างมีสติและความคิด
14.มีความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้แก่ชีวิต
15.พร้อมที่จะเผชิญประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต
ปัจจัยย่อยที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพ
ในบรรดาปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพ 3 ประการดังกล่าวได้มีผู้ค้นพบปัจจัยย่อยมากมายหลายอย่างซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการกำหนดพฤติกรรมการปรับตัวในวัยเด็กและการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพในวัยรุ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวัยวิกฤติแห่งการปรับตัว ตลอดจนการสร้างแบบแผนบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่
ปัจจัยย่อยที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพที่กล่าวถึงต่อไปนี้ บางอย่างก็มีความสำคัญในวัยเด็กและต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น บางอย่างก็ไม่มีบทบาทสำคัญอะไรเลยในระหว่างวัยเด็กและเพิ่งจะปรากฏความสำคัญเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ส่วนบางอย่างก็ตรงกันข้ามคือ มีอิทธิพลอย่างมากในวัยเด็กและลดความสำคัญลงเมื่อถึงวัยรุ่น
1.อิทธิพลของสภาวะทางกาย
2.อิทธิพลของสังคม
1.อิทธิพลของสภาวะทางกาย
1.1อิทธิพลของสภาวะเคมีภายในร่างกายหรือการทำงานของต่อมไร้ท่อ
อิทธิพลข้อนี้นับว่าเป็นอิทธิพลโดยตรงของสรีระ และกายวิภาคที่มีต่อพฤติกรรมการปรับตัวและบุคลิกภาพ ต่อมไร้ท่อจะทำงานโดยผลิตฮอร์โมนซึ่งก่อให้เกิดสภาวะเคมีขึ้นภายในร่างกาย และมีผลให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโต ในปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อมีอิทธิพลไม่น้อยต่อพฤติกรรมของบุคคลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังจะเห็นได้จากการทำหน้าที่ของต่อมสำคัญๆ บางอันดังตัวอย่างต่อไปนี้
1.ต่อมพิทูอิทารี(Pituitary Glands)
ต่อมนี้ตั้งอยู่ที่ฐานของสมอง ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนซึ่งสร้างความเจริญเติบโตแก่ร่างกายถ้าต่อมนี้ทำงานผิดปกติ เช่น ผลิตฮอร์โมนน้อยเกินไปจะทำให้ร่างกายเตี้ยแคระแกรนเด็กไม่เจริญเติบโต จิตใจไม่ปกติ ความรู้สึกทางเพศไม่เจริญตามวุฒิภาวะ ในทางตรงกันข้ามถ้าผลิตฮอร์โมนมากเกินขนาด ก็จะทำให้ร่างกานเติบโตแบบยักษ์ใหญ่ ต่อมนี้มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของโครงกระดูก และความเจริญเติบโตของร่างกาย ตลอดจนควบคุมการเจริญเติบโตของรังไข่ และอัณฑะ รวมทั้งระบบเผาผลาญของธาตุคาร์โบไฮเดรตภายในร่างกาย
2.ต่อมไทรอยด์(Thyroid Gland)
ต่อมนี้อยู่บริเวณลูกกระเดือก ทำหน้าที่กำหนดความเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ความเจริญทางสติปัญญา และภาวะสุดถึงขีดทางด้านเพศ ต่อมนี้ถ้าทำงานน้อยผิดปกติจะมีผลทำให้อวัยวะเพศไม่เจริญเติบโต ความคิดอ่านช้า ปัญญาทึบ พูดช้า เคลื่อนไหวช้า ผิวหนังแห้ง และผมร่วง ถ้าต่อมนี้ผลิตมากเกินไปจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายคือ ชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อออกมากผิดปกติ ตาถลน ระบบเผาผลาญเกินกว่าปกติ หิวบ่อย แต่น้ำหนักลด คนประเภทนี้มีลักษณะอาการทางประสาทเคร่งเครียดอยู่ไม่สุข โกรธง่าย ตื่นเต้นง่าย และพร้อมที่จะโวยวายแม้ในเรื่องเล็กน้อย
3.ต่อมอะดรีนาล (Adrenal Gland)
ต่อมนี้ตั้งอยู่เหนือไตทั้งสองข้าง ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนหลายชนิดที่สำคัญคือ Adrenaline และ Cortin Adrenaline จะถูกผลิตออกมาในยามที่อารมณ์เครียดเกิดขึ้น เช่นกลัวหรือหนีอันตราย หรือตกใจ สิ่งนี้กระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิตเร็วขึ้น จำนวนน้ำตาลในเม็ดเลือดเพิ่มขึ้นและความเข้มข้นของเลือดจะมากขึ้นในยามเครียดและฉุกเฉิน เป็นผลทำให้คนเราแสดงอาการทางกายออกมา เช่น หัวใจเต้นแรง มือสั่น หน้าตาแดงกล่ำ ส่วนฮอร์โมนที่เรียกว่า Cortin มีความสำคัญในการรักษาระดับความดันของโลหิตให้ปกติ ถ้าขาดฮอร์โมนชนิดนี้อย่างแรงผลคือ ความดันโลหิตจะต่ำผิดปกติจนถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำ จะมีอาการเหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนเพลียและใจคอหดหู่อยู่เสมอ
4. ต่อมโกแนด (Gonad Gland)
ต่อมนี้อยู่ที่ร่างกายของเพศหญิง และอยู่ที่อัณฑะของเพศชาย ต่อมนี้แม้ว่าจะเป็นตัวประกอบเพียงส่วนเดียวของระบบเพศ แค่ก็สำคัญมากในด้านการแสดงลักษณะเพศชายและหญิง ถ้าต่อมของเพศหญิงทำหน้าที่ผิดปกติไป อาจมีผลให้เกิดลักษณะความเป็นชายบางอย่างเกิดขึ้นแก่หญิงหรือถ้ามีการฉีดฮอร์โมนเพสหญิงเข้าไปในชาย ก็จะมีผลให้ผู้ชายมีลักษณะประกอบเพศบางอย่างที่แสดงความเป็นผู้หญิงออกมา ต่อม Gonad ในเพศชายทำหน้าที่ควบคุมการเปลี่ยน แปลงของเสียง การงอกของหนวด ขนรักแร้และขนหน้าอก ซึ่งถ้าต่อมนี้ทำหน้าที่ผิดปกติย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผิดปกติไปด้วย ส่วนต่อม Gonad ในเพศหญิงควบคุมร่างกายให้มีลักษณะความเป็นเพศหญิงโดยสมบูรณ์หน้าที่ของต่อมนี้นับว่าสำคัญมากในแง่บุคลิกภาพ เพราะเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ความเป็นชายหรือหญิงในสังคม
1.2อิทธิพลของรูปทางกาย

อิทธิพลข้อนี้นับว่าเป็นอิทธิพลทางอ้อมของสรีระ และกายวิภาคที่ทีต่อพฤติกรรมการปรับตัวและบุคลิกภาพของคนเรา เช่น ต่อม pituitary มีส่วนกำหนดขนาดของร่างกายให้มรชีขนาดปกติ แคระแกรน หรือใหญ่โตมโหฬารได้ ซึ่งเรื่องขนาดของร่างกายนี้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็กมาก ถ้าร่างกายยิ่งมีขนาดผิดธรรมดาเท่าไรก็จะยิ่งมีผลร้ายต่อการพัฒนาบุคลิกภาพมากเพียงนั้น
การศึกษาหลายอันได้เน้นความสำคัญของรูปทรง และลักษณะทางกายที่มีต่อการปรับตัวทางบุคลิกภาพ ซึ่งพอสรุปได้ดังต่อไปนี้
1.ลักษณะส่วนใหญ่ที่คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบ
1.ส่วนสูงตามระดับมาตรฐานของแต่ละเพศ หรือสูงกว่ามาตรฐานเล็กน้อย
2.น้ำหนักตัวตามระดับมาตรฐานของแต่ละเพศและได้สัดส่วนกับความสูง
3.หน้าตาผิวพรรณสวยงามตามธรรมชาติและบ่งถึงความมีสุขภาพดี
4.สุขภาพยิ่งแข็งแรงสมบูรณ์ยิ่งได้เปรียบ
5.อาการเคลื่อนไหวในลักษณะคล่องแคล่วและมั่นคง
6.ความแข็งแรงยิ่งมากเท่าไรยิ่งดีสำหรับเพศชาย
7.การแต่งกายที่เหมาะสมกับรูปร่าง ดินฟ้าอากาศและถูกกาลเทศะ
2.ลักษณะทางกายที่เป็นอุปสรรคของบุคลิกภาพที่ดี
1.สูงหรือเตี้ยเกินไป
2.อ้วนหริผอมเกินไป
3.หน้าตาผิวพรรณคล้ำ หรือซีดเซียว
4.สุขภาพไม่สมบูรณ์
5.ท่าทางเงอะงะงุ่มง่ามทั้งการเดิน การยืน หรือการนั่ง
6.อาการเคลื่อนไหนในลักษณะกระตุก หรืออาการอื่นๆ ทางประสาท
7.ความอ่อนแอ รับประทานอาหารได้น้อย เหนื่อยง่าย การฟังไม่ชัดเจน
8.สายตาและฟันไม่ดี
9.การแต่งกายไม่เหมาะสมกับรูปร่าง หรือไม่ถูกกาลเทศะ
3.ลักษณะทางกายที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจ
คนเราโดยปกติจะมีปฏิกิริยาตอบโต้กันในด้านรูปร่าง เช่น ความสวยงาม หรือความน่าเกลียด จากการศึกษาวิจัยได้พบว่า สภาวะทางกายเหล่านี้คือ ส่วนสำคัญของลักษณะทางกายที่ดึงดูดใจคน ซึ่งได้แก่ขนาดของร่างกายและสัดส่วนของอวัยวะต่างๆของร่างกาย รวมทั้งปริมาณไขมันและจำนวนเส้นผมที่พอเหมาะพอดีตามมาตรฐาน ส่วนลักษณะที่ไม่ดึงดูดใจคนได้แก่ สภาวะทางกายภาคในด้านเกี่ยวกับสัดส่วนของร่างกาย และสัดส่วนของอวัยวะต่างๆ เช่น ขา เท้า สะโพก ที่มีลักษณะผิดส่วนสำหรับเพศหญิงและส่วนแขนกับเท้าที่มีลักษณะผิดส่วนสำหรับเพศชาย นอกจากนี้สีสันของผิวพรรณโดยเฉพาะริมฝีปากก็มีความสำคัญในเรื่องนี้มากเช่นกัน สำหรับเด็กวัยรุ่นชายลักษณะที่ไม่มีเสน่ห์ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับเด็กวัยรุ่นหญิง เด็กวัยรุ่นชายที่มีเสน่ห์จะระมัดระวังตัวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการรักษาความสะอาดเรื่องกลิ่นตัว และความสะอาดของร่างกายโดยทั่วไป
4.ความบกพร่องทางร่างกาย
ในวัยเด็กความบกพร่อง หรือความพิการทางกายจะมีผลกระทบกระเทือนต่อเด็กน้อยมาก แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสาเหตุของความกังวลใจและความรู้สึกมีปมด้อยเพราะว่าในวัยรุ่นเด็กมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะได้รับการยอมรับ และนิยมยกย่องจากผู้อื่น สำหรับเด็กวัยรุ่นหญิงสภาวะทางกายที่บกพร่องหรือพิการใดๆ ก็ตามก็มีผลทำให้เพื่อนฝูงเพศเดียวกันไม่ยอมรับ และนิยมยกย่อง หรือที่ทำให้ตนเองเกิดความรู้สึกว่าเป็นคนไม่สวยงามและไม่มีเสน่ห์แก่เพื่อนชาย และทำให้เพื่อนชายหลีกเลี่ยงการคบค้าสมาคมด้วย สิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญใหญ่หลวงต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ ส่วนเด็กวัยรุ่นชายจะรู้สึกกังวลใจอย่างยิ่งในความบกพร่องหรือพิการทางกายที่เป็นสาเหตุให้ขาดความแข็งแรงล่ำสันแบบชายชาตรี และที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการแสดงออกที่ทำให้เพื่อนชายด้วยกันยกย่อง ตลอดจนเป็นอุปสรรคในการสร้างความนิยมชมชอบในเพื่อนเพศหญิง และอาจเป็นอุปสรรคในช่วงปลายวัยรุ่นกล่าวคือ ความบกพร่องหรือพิการทางกายอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาต้องผิดหวัง และล้มเหลวในการฝึกฝนอาชีพที่ได้เลือกไว้ก็ได้
5.ความสำคัญของเสื้อผ้าและการแต่งตัว
เสื้อผ้าและการแต่งตัวเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเด็กวัยรุ่น ในวัยนี้เด็กจะเริ่มเรียนรู้และค้นพบความสำคัญของเสื้อผ้า และการแต่งกายในแง่ที่ช่วยปิดบังลักษณะทางกายที่บกพร่องและช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพทางกายได้ ทั้งนี้เด็กอาจเรียนรู้จากการที่มีผู้ใหญ่แนะนำสั่งสอนหรือจากการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เด็กจะเรียนรู้ว่าลักษณะที่ไม่น่าดูบางอย่างซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกกังวลใจและปมด้อยนั้นเป็นสิ่งอำพรางได้ ด้วยการเบนความสนใจของผู้อื่นจากจุดบกพร่องนั้นๆ ได้โดยอาศัยเสื้อผ้า อาภรณ์ และเครื่องสำอางที่เหมาะสมกับตน
Hurlock (1929) ได้ทำการสอบถามว่าเป็นความจริงหรือไม่ที่การใช้เสื้อผ้ามีส่วนปกปิดส่วนบกพร่องของร่างกาย และได้พบว่า 72 เปอร์เซ็นต์ของเพศหญิงและ 38 เปอร์เซ็นต์ของเพศชายได้ให้คำตอบว่าจริง ส่วน 95 เปอร์เซ็นต์ของเพศหญิงและ 82 เปอร์เซ็นต์ของเพศชายได้ยืนยันว่าการรู้จักเลือกเสื้อผ้ามีส่วนส่งเสริมจุดเด่นทางกาย
1.3 อิทธิพลของสุขภาพ
สภาพของร่างกายในด้านสุขภาพความแข็งแรงอ่อนแอ หรือความมีโรคภัยไข้เจ็บมีผลต่อเจตคติ และพฤติกรรมของแต่ละคนไม่เพียงชั่วขณะเวลาที่เจ็บป่วยเท่านั้น แต่มีผลในระยะยาวด้วย ตัวอย่างเช่น เด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวซึ่งแม้จะไม่ร้ายแรงก็ตามหรือเด็กที่มีอาการป่วยเรื้อรังจะสร้างบุคลิกภาพซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพความเจ็บป่วยทางร่างกายที่เป็นอยู่ซึ่งมักจะแสดงออกในรูปพฤติกรรมที่อ่อนเพลีย โกรธง่าย หงุดหงิด และเอาใจยาก
เด็กที่สุขภาพทางกายไม่สมบูรณ์เพราะขาดแคลนอาหารจะมีน้ำหนักตัวน้อย และมีผลกระทบกระเทือนบุคลอกภาพ ได้มีผู้ศึกษาพบว่า คนอดมื้อกินมื้อปรากฏว่ามีลักษณะหมกมุ่นและชอบคิดฝันเกี่ยวกับอาการการกิน และลดความสนใจในสิ่งที่เคยสนใจน้อยลง เช่นภาพยนตร์ กีฬา หรือความรู้สึกทางเพศและมักมีจิตใจหดหู่ หงุดหงิดง่าย ไม่สนใจสังคม และขาดอารมณ์ขัน บางคนเป็นโรคที่เกิดจากอาการแพ้ หรือจากความรู้สึกไวต่อสิ่งเร้ามากเกินไป เช่นแพ้ละอองหญ้า เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง และมีอาการไข้ ปวดศีรษะและวิงเวียน เป็นผื่น คันตามผิวหนัง หรือมีอาการหอบ จากการศึกษาพบว่า คนที่เป็นโรคเนื่องจากอารมณ์เหล่านี้มีลักษณะทางบุคลิกภาพซึ่งแตกต่างจากผู้ที่ไม่เป็นโรคนี้ ในทำนองนี้คือตัดสินใจช้าและตัดสินใจยาก มีความลำบากในการคิดและรวบรวมความคิด มีปมด้อยในเรื่องทั่งๆไป วิตกกังวลเกี่ยวกับตนเองเกินกว่าเหตุ เกลียดกลัวภาระหน้าที่ประจำวัน และมีความรู้สึกอึดอัดแฝงอยู่ในใจ
2.อิทธิพลของสังคม
2.1อิทธิพลของระเบียบประเพณีและวัฒนธรรม
การปรับตัวตามแบบแผนของวัฒนธรรม
กฎเกณฑ์หรือระเบียบแบบแผนที่เป็นมาตรฐานสำหรับการประพฤติปฏิบัตินี้ อาจตั้งขึ้นโดยผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเป็นที่เคารพยำเกรงและเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองคนกลุ่มนั้น เช่นพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ปกครองประเทศ หัวหน้าเผ่า หรือผู้นำทางศาสนา เนื่องจากเหตุนี้เองบุคลิกภาพของคนในสังคมจึงพัฒนาจากมาตรฐาน และระเบียบแบบแผนของสังคมของตนเกิดมาและสังกัดอยู่ โดยที่คนเหล่านั้นก็อาจไม่รู้ที่มาของกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนที่ตนต้องยึดมั่นปฏิบัติตาม หรืออาจไม่เข้าด้วยซ้ำไปว่า เหตุใดตนจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนเหล่านั้นทั้งๆ ที่บางครั้งระเบียบปฏิบัติบางอย่างก็ขัดต่อความจริงและต่อความรู้สึกอันแท้จริงของตัวเองด้วย ดังที่เรามักจะได้ศึกษาพบว่าสังคมที่ยิ่งล้าหลังและห่างไกลความเจริญมากเพียงใดยิ่งมีระเบียบแบบแผนและมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติที่เคร่งครัดและเข้มงวดกวดขันมากเพียงนั้นเช่น ระเบียบประเพณีของชาวป่า ชาวเขา ชาวเกาะเผ่าต่างๆ เป็นต้น
สังคมแต่ละแห่งยังประกอบด้วย สถาบันสังคมย่อยๆ ที่คนต้องเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนตาย อาทิ บ้าน โรงเรียน สถาบันทางศาสนา เช่นวัด โบสถ์ตลอดจนถึงประเทศชาติ เป็นต้น ต่างก็มีแบบเฉพาะตัวในการฝึกฝนการสังคมแก่เด็ก โดยอาศัยการสั่งสอนโดยตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ให้เด็กได้เข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดตลอดจนลักษณะพฤติกรรมต่างๆ ที่เด็กต้องรับและปฏิบัติ ผู้ใหญ่จะสอนให้เด็กรู้ว่าสิ่งใดควรไม่ควรอย่างไร และผลจะเป็นอย่างไร ดังนั้นในการดำเนินชีวิตเด็กจึงสังเกตดูผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างและคอยลอกเลียนแบบอย่างจากผู้ใหญ่
ในแต่ละสังคมจะมีการกำหนดแบบแผนของพฤติกรรมระหว่างเพศชายและหญิงไว้ไม่เหมือนกัน เช่นชาวนิวกินีบางเผ่าอบรมผู้หญิงให้มีลักษณะอ่อนโยนและยอมตามผู้อื่น ซึ่งตรงข้ามกับเพศชายคือ เพศชายจะต้องมีลักษณะเข้มแข็งและต่อสู้ กระนั้นก็ดีในสังคมไทยยังคงนิยมและยึดถือหลักการที่ว่า “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าส่วนผู้หญิงเป็นช้างเท่าหลัง” อยู่เช่นเดิมฉะนั้นการฝึกอบรมเด็กผู้หญิงจึงยังคงเน้นหนักในเรื่องความสุภาพเรียบร้อยอ่อนโยนและความเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี ในขณะเดียวกันก็กำหนดบทบาทเพศชายให้เป็นผู้นำหรือหัวหน้าครอบครัวที่ดี
สรุปได้ว่าในเรื่องอิทธิพลของระเบียบวัฒนธรรมนี้ สมาชิกของสังคมคนใดสามารถประพฤติตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานของสังคมได้ย่อมเป็นที่ยอมรับและปรับตัวเข้ากับกลุ่มได้ดีตรงกันข้ามถ้าผู้ใดประพฤติผิดจากมาตรฐานของสังคม ย่อมประสบปัญหาและความยุ่งยากในการปรับตัวเข้ากับกลุ่มสังคมนั้นอย่างแน่นอน
การศึกษาของนักมานุษยวิทยาเกี่ยวกับโครงสร้างของสังคมกับบุคลิกภาพ
นักมนุษยวิทยาได้ทำการศึกษาลักษณะโครงสร้างของสังคมที่แตกต่างกันในแง่เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์และได้ชี้ให้เห็นว่าลักษณะของโครงสร้างของแต่ละสังคมอันมีวัฒนธรรมเป็นแกนกลาง มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับบุคลิกภาพและการดำเนินชีวิตของคนในสังคม
การศึกษานี้ได้สนับสนุนความคิดที่ว่าวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละสังคมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดสภาพที่แตกต่างกันให้แก่คนในสังคม ซึ่งยังผลให้คนเราแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดแม้แต่ในวัยเด็ก นอกจากนี้ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นด้วยว่า พฤติกรรมที่แสดงลักษณะความเป็นลูกผู้ชายหรือลูกผู้หญิงนั้นหาได้เป็นมาโดยกำเนิดไม่ แต่จะเกิดจากข้อกำหนดของวัฒนธรรมในสังคมของตน ดังเช่นตัวอย่างของเด็กชายและเด็กหญิงชาว Tchambuli เป็นต้น
สรุปได้ว่าโครงสร้างสังคมอันมีวัฒนธรรมเป็นแกนกลาง มีความสัมพันธ์อย่างมากกับการดำเนินชีวิต ผู้คนแต่ละหมู่เหล่าแต่ละเผ่าพันธุ์ต่างดำเนินชีวิตโดยเจริญรอยตามแบบแผนของสังคมของตน สังคมใดมีลักษณะโครงสร้างง่ายๆ ไม่สลับวับซ้อนผู้คนในสังคมนั้นก็จะมีชีวิตง่ายๆ เรียบๆ ปราศจากปัญหาหรือข้อขัดแย้ง ซึ่งแตกต่างจากสังคมที่ประกอบด้วยโครงสร้างสลับซับซ้อน สังคมสมัยใหม่ซึ่งเจริญก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และกำหนดมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติสูงขึ้นทุกด้านสำหรับคนในสังคมนับตั้งแต่ด้านการสังคม การศึกษา การประกอบอาชีพ การแต่งงานและการสร้างค่านิยมที่พึงปรารถนา ทั้งนี้ทำให้คนในสังคมประสบปัญหาข้อขัดแย้งและความเคร่งเครียดเป็นอย่างมากโดยเฉพาะบุคคลในวัยหนุ่มวัยสาวอันเป็นช่วงวิกฤติแห่งการปรับตัว
2.2อิทธิพลของลักษณะของครอบครัว
ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมแห่งแรกที่ทุกคนต้องเกี่ยวข้อง ชีวิตครอบครัวที่เพียบพูนด้วยความรักใคร่กลมเกลียวและอบอุ่นมั่นคงในวัยเยาว์ ย่อมเป็นรากฐานสำคัญของบุคลิกภาพที่ดีในภายหน้า เด็กที่โชคดีและเกิดมาอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเบื้องแรกทางครอบครัวที่ร่มเย็นเป็นสุขตั้งแต่เป็นทารกจนกระทั่งเติบใหญ่ ย่อมมีบุคลิกภาพที่ดีงามและสามารถปรับตัวได้ดีและมีชีวิตที่เป็นสุข
ลักษณะของครอบครัวแบบต่างๆ
1.ครอบครัวประเภท “บ้านแตก”(Broken Home)
เมื่อบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องจากเด็กไปจะด้วยการหย่าร้างหรือความตายก็ตาม เด็กย่อมได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักจากการสูญเสียบุคคลที่ตนรักและยึดถือเป็นเจ้าของยิ่งถ้าฝ่ายที่ยังอยู่กับเด็กแสดงความรู้สึกหงุดหงิดหรือแสดงอารมณ์ให้เด็กเห็นอยู่เสมอจะยิ่งบังเกิดผลร้ายแก่จิตใจเด็ก เพราะเป็นการกระตุ้นเตือนเด็กให้สำนึกอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับสถานะของครอบครัวของตนที่ผิดจากเพื่อนฝูงทั้งในเวลาเรียนที่โรงเรียนหรือในเวลาเล่นกับเพื่อนฝูง บางกรณีตรงกันข้ามคือบิดาหรือมารดาที่อยู่กับเด็กดูแลเอาใจใส่ปกป้องและพะเน้าพะนอเด็กมากตนเกินไปเพื่อชดเชยความรู้สึกของเด็กในการสูญเสีย สภาวการณ์เช่นนี้จะกลายเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างบิดาหรือมารดากับเด็กมากเกินไปจนแยกไม่ออกภายหลัง เช่นในกรณีที่จะแต่งงานใหม่เด็กอาจรู้สึกว้าเหว่ เสียใจและน้อยใจสุดขีดและมีความรู้สึกคล้ายถูกช่วงชิงสิ่งที่ตนรักและหวนแหนไป ทั้งนี้ย่อมทำให้เด็กเกิดปัญหาในการปรับตัวได้
ในกรณีครอบครัวแตกแยกนี้หากเด็กได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักใคร่ เอาใจใส่สม่ำเสมอจากฝ่ายบิดาหรือมารดาที่เด็กอยู่ด้วยเป็นอย่างดีตลอดมาและเด็กยังคงมีสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายที่แยกจากไปอยู่ เด็กย่อมรับสภาพชีวิตเช่นนี้ได้ดีขึ้น และสามารถปรับตัวทางบุคลิกภาพได้ดีด้วย
2.ครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำ
การศึกษาวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวมีผลต่อการปรับตัวของเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม ปรากฏว่าเด็กที่ปรับตัวได้ดีมักมาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูง อิทธิพลที่มีต่อการปรับตัวโดยตรงคือ วิธีการที่บิดามารดาใช้ในการควบคุมและอบรมเด็ก ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัว ครอบครัวที่ร่ำรวย ครอบครัวที่ยากจน ครอบครัวคนชั้นสูง ชั้นกลาง หรือชั้นต่ำ ย่อมมีวิธีการในการควบคุมและอบรมแตกต่างกันไปซึ่งทำให้เด็กมีบุคลิกภาพแตกต่างกันไป ส่วนอิทธิพลทางอ้อมหมายถึงการที่เด็กเปรียบเทียบฐานะของตนกับเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน นับแต่ลักษณะบ้านช่องและความเป็นอยู่ทุกๆ ด้านทำให้เกิดปมด้อย หรือปมเด่นได้ บางคนเก็บกดความรู้สึกแยกตัวเองจากสังคม ไม่สนใจการสังคมและมีความระทมทุกข์ในปมด้อยของตนเองซึ่งตรงกันข้ามกับครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจดี ครอบครัวมีหน้าตาในสังคม เด็กวัยรุ่นมักแสดงลักษณะของความเป็นอิสระและเป็นตัวเอง มีความมั่นใจในตนเองและมีความรู้สึกเหนือคนอื่น
3.ครอบครัวที่บิดามารดาใช้อำนาจและครอบครัวที่บิดามารดายอมเด็กและตามใจเด็ก
บิดามารดาบางคนมีลักษณะเป็นคนเจ้าอำนาจและชอบใช้อำนาจในการข่มขู่เด็ก ตั้งมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติสูงเข้มงวดกวดขันจนเกินไป และบางครั้งลงโทษเด็กอย่างรุนแรง เช่น เฆี่ยนตี กักขัง ตลอดจนชอบตำหนิติเตียน หรือขู่เด็กให้เสียขวัญและตระหนกตกใจอยู่เสมอ ซึ่งทั้งนี้เกิดจากเจตนาที่ดีที่ต้องการให้เด็กเป็นคนดี มีมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติที่สูงเกินวัยนั่นเอง สภาพครอบครัวเช่นนี้มักสร้างความหวั่นกลัวและมีความรู้สึกเคียดแค้นเป็นปฏิปักษ์แก่เด็ก ซึ่งบางรายกลายเป็นอาชญากรไปก็มี
ครอบครัวที่มีลักษณะตรงกันข้าม คือครอบครัวซึ่งบิดามมารดายอมเด็กและตามใจเด็ก บิดามารดาประเภทรี้มักจะตามใจ และให้อิสระแก่เด็กมากจนกระทั่งยอมให้เด็กมีอำนาจเหนือตนจนกระทั่งผลที่สุดไม่สามารถปฏิเสธคำเรียกร้องของเด็กได้ไม่ว่ากรณีใดๆ บางครอบครัวบุตรเกิดมาพิการไม่สมประกอบ หรือเจ็บไข้ได้ป่วย บิดามารดามักจะเอาอกเอาใจทนุถนอมและตามใจเด็กมากเป็นพิเศษจนเกินกว่าเหตุด้วยความเวทนาสงสาร เด็กบางคนชอบระเบิดอารมณ์เพื่อเรียกร้องสิ่งต่างๆ ที่ต้องการ บางรายก็ถึงขั้นขู่ว่าจำทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายถ้าบิดามารดาไม่ยอมให้สิ่งที่ต้องการ เท่าที่ปรากฏบิดามารดาส่วนมากมักจะยอมตามที่เด็กเรียกร้องเนื่องจากเกิดความเวทนาสงสารสภาพอันไม่สมประกอบของบุตร
4.ครอบครัวที่บิดามารดาปกป้องทนุถนอมเด็กมมากเกินไป
ตรงกันข้ามกับกรณีที่เด็กถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับการเอาใจใส่ บิดามารดาบางรายทนุถนอมและปกป้องบุตรมิให้ต้องประสบความลำบากในชีวิตประจำวันแม้เท่าปลายก้อย สภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้เด็กประสบปัญหาและความลำบากในชีวิตในภายหลัง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องเป็นอิสระและพึ่งตัวเองเพราะเด็กไม่ได้รับการฝึกฝน และเตรียมตัวในการเผชิญอุปสรรคและปัญหาในการดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง
เด็กที่ได้รับความรักและการเลี้ยงดูอย่างทนุถนอมจนเกินไปย่อมไม่มีโอกาสได้เตรียมตัวเพื่อเผชิญสถานการณ์ในภายหน้า เช่น ข้อเรียกร้องของครูซึ่งสร้างความหนักใจให้แก่เด็กหรือการที่ต้องแข่งขันกับเพื่อนที่โรงเรียนในด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโรงเรียนเด็กอาจปรับตัวด้วยบุคลิกภาพที่ไม่มั่นใจไม่กล้าตัดสินใจ หรืออาจแสดงออกด้วยความก้าวร้าวหรือแสดงปมเด่น เพื่อชมเชยปมด้อยซึ่งเกิดจากความรู้สึกไม่มั่นใจในการเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง ครั้นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ซึ่งเป็นวัยที่เด็กต้องมีชีวิตครอบครัวของตนเองหรือต้องประกอบอาชีพอิสระด้วยตนเอง บุคลิกภาพดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการปรับตัวที่ดีได้
5.ครอบครัวที่บิดามารดามีความทะเยอทะยานใฝ่สูงสำหรับเด็ก
บิดามารดาที่มีความทะเยอทะยานใฝ่สูงสำหรับชีวิตอนาคตของบุตร ส่วนใหญ่มีอยู่สองประเภทคือ ประเภทแรกตัวบิดามารดาเองเป็นผู้ได้ประสบความสำเร็จรุ่งโรจน์ในชีวิตและการงานมาแล้ว ฉะนั้นจึงผลักดันและยั่วยุบุตรให้ก้าวไปสู้ความสำเร็จในระดับเดียวกับตน ประเภทที่สองได้แก่ บิดามารดาที่มีชีวิตตรงกันข้ามกับประเภทแรกคือ ตัวเองขาดความสำเร็จหรือประสบความล้มเหลว หรือไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนและแสดงความสามารถในวัยที่ผ่านมาจึงกระทำกับบุตรในทำนองเดียวกับบิดามารดาประเภทแรก โดยหวังจะให้บุตรประสบความสำเร็จอย่างสูงในชีวิตเพื่อเป็นการชดเชยความรู้สึกขาดแคลนสิ่งนี้ในชีวิตของตนเอง การกระทำของบิดามารดาสองประเภทนี้มีผลให้เด็กเกิดอารมณ์เคร่งเครียดและกดดัน และมักจะทำให้เด็กเกิดปมด้อยและความไม่รู้สึกปลอดภัยในจิตใจ
6.ครอบครัวที่บิดามมารดาปรารถนาจะได้บุตรเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ
คนบางกลุ่มหรือบางชาตินิยมที่ได้บุตรเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ชาวจีนปรารถนาจะได้บุตรคนโตเป็นชายเพื่อจะได้เป็นผู้ถือแซ่สืบสกุลต่อไป ความรู้สึกเช่นนี้มิได้มีเฉพาะในหมู่คนจีนเท่านั้น คนทั่วๆไปบางครอบครัวก็รู้สึกเช่นนี้ สภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้เด็กที่เติบโตขึ้นมาและรู้ตัวว่าตนมิใช่เพศที่บิดามารดาปรารถนาจะเกิดความรู้สึกท้อแท้ใจและมีความไม่มั่นใจในตัวเองได้ ยิ่งในกรณีที่บิดามีภรรยาใหม่โดยอ้างว่าต้องการบุตรชายเพื่อสืบสกุล ความปั่นป่วนภายในครอบครัวและความรู้สึกกระทบกระเทือนใจย่องเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
7.ครอบครัวที่บิดามารดาอิจฉาเด็ก
ในบางครอบครัวเมื่อบุตรเกิดมาบิดาจะหมดความสนใจในมารดาหรือมารดาหมดความสนใจในบิดาไปเลยแต่กลับไปทุ่มเทความรักให้แก่บุตรแต่ผู้เดียว สภาพการณ์เช่นรักบางครั้งอาจสร้างความรู้สึกอิจฉาขึ้นในใจบิดาหรือมารดาฝ่ายที่ถูกทอดทิ้งได้ เช่นบิดาที่เคยได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่และการปรนนิบัติจากมารดาอย่างเต็มที่สม่ำเสมอ ครั้นพอมีบุตรบิดากลับหมดความสำคัญสำหรับมารดาไปเลยก็มี ทำให้มารดาเลิกปรนนิบัติดูแลบิดาโดยสิ้นเชิงและหันไปปรนนิบัติบุตรแทน ในกรณีเช่นนี้บอดาอาจเกิดความรู้สึกเฉยชาต่อบุตร หรือปฏิบัติต่อบุตรในลักษณะเย็นชาหรือดุร้ายรุนแรง ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรได้ เด็กที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้อาจมีความรู้สึกไม่พอใจบิดาแฝงในใจเงียบๆ หรืออย่างเปิดเผยและจะหันเหไปหาความรักความอบอุ่นใจจากมารดาเป็นเครื่องทดแทน
ความสำคัญของฐานะของเด็กในหมู่พี่น้อง
นอกเหนือจากลักษณะหรือสภาพครอบครัวแบบต่างๆ ฐานะของเด็กในหมู่พี่น้องอันเนื่องจากลำดับการเกิดก่อนเกิดหลังก็มีผลต่อการปรับตัวทางอารมณ์ของเด็กไม่น้อยเช่นกัน เด็กที่เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน เช่นบิดามารดาเดียวกัน สภาพแวดล้อมในครอบครัวเป็นอันเดียวกันก็จริง แต่พี่น้องแต่ละคนในครอบครัวจะได้ผลแตกต่างกันจากสิ่งแวดล้อมนั้นๆ
การเป็นบุตรคนเดียวของครอบครัว
การเป็นบุตรคนเดียวย่อมทำให้เด็กรู้ตัวว่าเป็นคนสำคัญที่สุดของบิดามารดา ความคิดเช่นนี้มักจะก่อให้เกิดผลเสียในการพัฒนาจิตใจของเด็กเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าในโลกที่สับสนวุ่นวายและแก่งแย่งชิงดีกันเช่นทุกวันนี้ อย่างไรก็ดีการเป็นบุตรคนเดียวของครอบครัว ถ้าได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจากบิดามารดาผู้มีความเข้ใจและมีความเฉลียวฉลาด ย่อมไม่เกิดปัญหาทางด้านการปรับตัวและบุคลิกภาพแต่อย่างใด เช่นหาทางส่งเสริมให้บุตรคบค้าสมาคมกับเพื่อนเล่นในละแวกบ้านเดียวกัน หรือให้เด็กเข้าโรงเรียนเด็กเล็กและหมั่นสอนเด็กให้รู้จักแบ่งปันและเสียสละไม่เฉพาะกับบิดามารดาแต่กับบุคคลอื่นโดยทั่วไป ตลอดจนสอนให้เด็กรู้จักเคารพในสิทธิและสมบัติส่วนตัวของผู้อื่นด้วย วิธีการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยลดความรู้สึกสำคัญในตัวเอง ความรู้สึกเหนือผู้อื่นและความต้องการที่จะให้ผู้อื่นสนใจแต่ตัวเองลงได้ อันจะทำให้เด็กสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น
การเป็นบุตรหัวปี
การที่เด็กเกิดมาเป็นบุตรคนแรกในครอบครัวย่อมหมายถึงกรเป็นบุตรคนเดียวของครอบครัวชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีน้องใหม่ จากการศึกษาได้พบว่าบุตรคนหัวปีมักจะมีความอิจฉาริษยามากกว่าบุตรคนอื่นๆ เพราะบุตรคนโตจะมีภาระหน้าที่ในการดูแลน้องทั้งต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้องและคำสั่งสอนของบิดามารดาอีกมากมาย ความรักและความสนใจที่บิดามารดาเคยทุ่มเทเฉพาะตนผู้เดียวก็ถูกแบ่งปันให้น้องๆ ประกอบกับตนต้องมีความรับผิดชอบต่อน้องๆ สภาพการณ์เช่นนี้จึงอาจก่อปัญหาทางบุคลิกภาพได้เมื่อตอนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
การเป็นบุตรคนสุดท้อง
เด็กที่อยู่ในฐานะบุตรคนสุดท้องยิ่งมีความโน้มเอียงที่จะมีปัญหาการปรับตัวทางบุคลิกภาพได้หลายอย่าง เนื่องจากบางครั้งน้องเล็กสุดท้องอาจถูกพี่ๆ บังคับหรือรังแกเพราะโตกว่าและมีอำนาจของความเป็นพี่ที่จะใช้บังคับน้องได้ หรือเพราะความอิจฉาหรือเคียดแค้นที่บิดามารดาทุ่มเทความรักให้น้องสุดท้องมากที่สุด เด็กอาจกลายเป็นคนขี้กลัว ช่างวิตกกังวล หรือชอบต่อต้านขัดขืน บางรายเด็กจะได้รับการตามใจจากบิดามารดาจนกลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพในการปรับตัวแบบทารกน้อยๆ ซึ่งต้องคอยพึ่งผู้อื่น
การเป็นบุตรคนกลาง
บุตรคนกลางมักจะไม่ค่อยได้รับความรักและความเอาใจใส่จากบิดามารดามากเท่าที่คนหัวปีหรือคนสุดท้องได้รับ บิดามารดามักละเลยบุตรคนกลางๆ โดยเฉพาะในกรณีที่มีบุตรมากและฐานะครอบครัวยากจน ผลก็คือเด็กจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ บิดามารดาที่ฉลาดสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาและอันตรายที่จะเกิดแก่จิตใจของเด็กได้ โดยเอาใจใส่และให้ความรักแก่บุตรทุกคนเท่าเทียมกันและสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นบุตรลำดับใดก็ตาม เพื่อส่งเสริมบุคลิกภาพที่ดีงามแก่เด็ก
3.อิทธิพลของเพื่อนฝูง
อิทธิพลของเพื่อนฝูงในวัยเด็ก
เพื่อนเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในความรู้สึกของเด็กทุกคน ในระหว่างอายุประมาณ 6-12 ปี เด็กได้เข้าสู่สถาบันทางสังคมที่สำคัญแห่งหนึ่งนอกเหนือจากบ้านคือโรงเรียน ฉะนั้นในช่วงวัยนี้เด็กจะมีเพื่อนวัยเดียวกันมากมายซึ่งมาจากครอบครัวต่างๆ กัน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะในการเข้าสังคมตามแบบแผนของวัฒนธรรมในสังคมนั้น จากการได้ร่วมและการเล่นกับเพื่อนฝูงวัยเดียวกันซึ่งใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงอยู่ในโรงเรียนด้วยกัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าบุคลิกลักษณะพื้นฐานที่ได้สร้างขึ้นมาจากชีวิตครอบครัวในตอนเล็กๆ ก็ยังมีความสำคัญอยู่อย่างมากในการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ
การที่เด็กในวัยนี้ก้าวจากสถาบันแรกทางสังคมหรือบ้านมาสู่โลกที่กว้างขึ้น คือ โรงเรียนนี้มีปัญหาที่ควรพิจารณาหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวและบุคลิกภาพของเด็ก ประการสำคัญได้แก่ปัญหาเรื่องความต้องการเป็นอิสระเสรีกับความก้าวร้าวเกเรรวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนวัยเดียวกัน
ในด้านความต้องการเป็นอิสรเสรีนี้ แท้จริงเริ่มเกิดขึ้นแต่วัยเด็กตอนต้นภายในครอบครัวแล้ว และเจริญเติบโตต่อมมาเรื่อยๆจนถึงวัยเด็กตอนปลาย วัยรุ่นจนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ อิทธิพลของกลุ่มเพื่อนวัยเดียวในแง่นี้คือ ทำให้เด็กพยายามดิ้นรนที่จะเป็นอิสระจากพ่อแม่ เด็กที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการสังคมร่วมกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน คือผู้ที่สามารถเป็นอิสระโดยตัวเองได้ในระดับพอดี มิใช่ผู้ที่เป็นอิสระเสียจนกลายเป็นก้าวร้าว หรือติดแน่นและอาลัยความอบอุ่นจากการปกป้องคุ้มครองของพ่อแม่ประดุจ “ลูกแหง่” จนไม่สามารถเป็นตัวเองได้เลย
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าในวัยเด็กโดยเฉพาะในระยะประถมต้นคือ ระหว่าอายุ 6-12 ปี เพื่อนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการสังคมของเด็ก โดนเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูง
อิทธิพลของเพื่อนฝูงในวัยรุ่น
เพื่อนฝูงและคนรู้จักมีอิทธิพลอย่างยิ่งโดยเฉพาะในชีวิตวัยรุ่นเพราะในวัยนี้เด็กมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำตัวให้เพื่อนฝูงยอมรับนับถือ เด็กเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะมีความเข้าใจดีกว่าเพื่อนฝูงมีความรู้สึกต่อตนอย่างไร ถ้าเด็กยิ่งได้รับความนิยมยกย่องจากเพื่อนจากเพื่อนฝูงมากเพียงไรย่อมทำให้เด็กเป็นคนที่มีลักษณะเป็นมิตร น่าคบ กล้าแสดงออก วางตัวในสังคมเป็น และมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นเพียงนั้น และจากลักษณะต่างๆของบุคลิกภาพดังกล่าวนี้ ย่อมจะช่วยให้เด็กเด่นในการสังคมและได้รับการยกย่องนิยมยิ่งขึ้นจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตัวเองในแง่ที่ดีด้วยอีกต่อเนื่อง เด็กวัยรุ่นที่มีการสังคมไม่ดี และไม่เป็นที่นิยมยกย่องของเพื่อนฝูงมักจะสร้างเจตคติต่อตนเองในแง่ไม่ดีขึ้นมา โดยเฉพาะจะมีจะมีความรู้สึกเคร่งเครียดและบางครั้งหวาดหวั่นใจ เด็กพยายามที่จะยอมรับและคล้อยตามความคิดเห็น การกระทำทุกอย่างของเพื่อนผู้เป็นที่รักใคร่และนิยมยกย่องของกลุ่มทั้งๆ ที่บางครั้งรู้สึกไม่เต็มใจก็ตาม และบางครั้งจะพยายามแสดงตัวโอ้อวดเพื่อให้เพื่อนฝูงประทับใจในความโก้หรือความสามารถของตน ทั้งที่จะเห็นได้ว่าแตกต่างจากเด็กที่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูงซึ่งมีลักษณะเป็นอิสระ อารมณ์ดีและเป็นตัวเองมากกว่าและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิดของผู้อื่นน้อยกว่า
การที่เด็กได้รับการยกย่องและยอมรับนับถือจากเพื่อนฝูง ไม่เพียงแต่จะมรอิทธิพลต่อการสร้างความรู้สึกนึกคิดต่อตนเองเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการปรับปรุงแต่งพฤติกรรมและลักษณะทางบุคลิกภาพในสังคมอีกด้วย เนื่องจากความปรารถนาที่จะเป็นที่ยอมรับนับถือของเพื่อนฝูงนี่เอง เด็กวัยรุ่นจึงพยายามปรับปรุงความคิดและพฤติกรรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานของกลุ่มที่ตนปรารถนาจะร่วมด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเด็กบางคนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเริ่มพิจารณาตนเองและสำนึกว่าความเอาแต่ใจของตนเอง ความตระหนี่ถี่เหนียวหรือความฉุนเฉียวเจ้าอารมณ์ของตนเป็นอุปสรรคในการคบเพื่อนเพราะทำให้เพื่อนฝูงรังเกียจและหลีกหนี จึงพยายามแก้ไขตัวเอง และพยายามสร้างลักษณะที่ดีที่ทำให้เป็นที่รักใคร่นิยมขึ้นมาแทนที่ เพื่อให้เป็นที่พึงปรารถนาของกลุ่มสังคมของตน
4.อิทธิพลของโรงเรียน
เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนสิ่งแวดล้อมทางโรงเรียนก็จะเริ่มมีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กนับตั้งแต่ความสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียนและครูอาจารย์ ความรู้สึกของครูและของเพื่อนฝูงที่มีต่อตนจากการเปรียบเทียบตนกับเพื่อนร่วมชั้นในด้านความสามารถทางการเล่าเรียนและทางด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตร รวมทั้งวิธีที่บุคคลเหล่านี้ปฏิบัติต่อตน ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยกำหนดความรู้สึกที่เด็กมีต่อตนเองทั้งสิ้น แต่ละปีที่เด็กเติบโตเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในตอนวัยรุ่นเด็กจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางโรงเรียนมากกว่าสิ่งแวดล้อมบ้านหรือทางอื่นๆ
อิทธิพลที่สำคัญอย่างหนึ่งในโรงเรียนได้แก่ตัวครู ในที่นี้เราหมายถึงแบบแผนของบุคลิกภาพของครูรวมทั้งเจตคติหรือความรู้สึกท่าทีที่ครูมีต่ออาชีพครุ สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลในการสร้างบรรยากาศภายในโรงเรียน เช่นเดียวกับที่บุคลิกภาพและเจตคติของบิดามารดามีอิทธิพลในการสร้างบรรยากาศภายในครอบครัว ครูที่มีลักษณะทำตัวเหนือนักเรียน โดยชอบใช้การบังคับ คำสั่ง การขู่เข็ญ การประจานนักเรียนและการทำให้นักเรียนรู้สึกตัวว่าต่ำต้อย จะมีอิทธิพลในการสร้างบุคลิกภาพของนักเรียนในแบบที่แตกต่างจากครูที่ใช้วิธีการขอร้องแทนคำสั่งและชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจคำขอร้องของครูจนนักเรียนเกิดความรู้สึกร่วมมือกับครูด้วยความเต็มอกเต็มใจ ครูที่ชอบใช้อำนาจจะใช้วิธีบังคับนักเรียนให้ปฏิบัติตามมาตรฐานและค่านิยมที่ครูวางไว้ ส่วนครูที่มีการสังคมดีจะใช้วิธีเชิญชวนและชักจูงให้นักเรียนร่วมมือกับครู
5.อิทธิพลของอุดมคติ
อุดมคติมีความสำคัญต่อเด็กไม่น้อยในการสร้างบุคลิกภาพและในการปรับตัว Havighurst (1950) ได้ระบุถึงบุคคลในอุดมคติที่เด็กยึดถือจากวัยวัยเด็กสู่วัยรุ่นตามลำดับดังนี้ คือ บิดามารดา ครูและผู้นำชุมชนต่างๆ เพื่อนฝูงวัยเดียวกันและรุ่นพี่ที่ปะสบความสำเร็จในชีวิต ผู้ใหญ่ทีมีชื่อเสียงเช่น ดาราภาพยนตร์ นักกีฬา หรือทหาร วีรบุรุษหรือวีรสตรีในหนังสือที่อ่าน ผู้ใหญ่วัยตอนต้นที่ชีวิตประสบความสำเร็จและมีเสน่ห์ดึงดูดใจซึ่งเด็กวัยรุ่นได้พบเห็น
อุดมคติทีความสำคัญต่อการปรับตัวทางบุคลิกภาพของเด็กวัยรุ่นมาก เพราะว่าเด็กจะไม่เพียงแต่ลอกเลียนแบบบุคคลที่ตนนิยมยกย่องเฉพาะลักษณะภายนอก เช่นการแต่งกาย การพูดจา หรือกริยาท่าทางเท่านั้น แต่จะเอาอย่างความรู้สึกนึกคิดตลอดจนค่านิยมที่บุคคลนั้นยึดถือด้วยโดยไม่รู้ตัว สภาพการณ์เช่นนี้จะช่วยให้เด็กวัยรุ่นได้เรียนรู้และเข้าใจหน้าที่ของตนเองเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เด็กวัยรุ่นหญิงที่ถือมารดาเป็นแบฉบับไม่เพียงแต่จะได้เรียนรู้ค่านิยมจากมารดาเท่านั้น หากยังได้เห็นและเข้าใจและเลียนแบบหน้าที่และบทบาทเพศหญิงจากมารดาอีกด้วย ดังเห็นได้จากการกระทำต่างๆของเด็กหญิงในวัยรุ่น เช่นความสนใจในหน้าที่แม่บ้านแม่เรือนเป็นต้น ดังนั้นหากปรากฏว่าเด็กวัยรุ่นชายคนใดยึดถือมารดาแทนที่จะยึดบิดาหรือผู้ใหญ่อื่นๆเพศเดียวกันเป็นบุคคลในอุดมคติก็มักจะประสบความลำบาก และเกิดปัญหาอย่างหนักในการปรับตัวทางบุคลิกภาพ เพราะเด็กย่อมแสดงพฤติกรรมตามบทบาทของเพศชายได้ยาก แต่จะกลับแสดงออกในลักษณะผู้หญิงๆเช่นเดียวกับมารดาที่ตนรักและบูชา ซึ่งจะก่อปัญหาในการสังคมได้อย่างมาก การสังคมภายในโรงเรียนจะสอนให้เด็กรู้ว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าเพศชาย ฉะนั้นการที่ตนจะทำตัวเช่นผู้หญิงจึงเป็นเรื่องน่าอายเพื่อนฝูงอาจจะล้อเลียนว่าเป็น “กะเทย” หรือ“หน้าตัวเมีย” ได้ ฉะนั้นเด็กวัยรุ่นชายจึงพยายามสร้างลักษณะความบึกบึนแข็งแกร่งแบบชายชาตรีขึ้นในบุคลิกภาพของตนและพยายามสนใจกีฬา ทั้งนี้เพื่อจะได้แสดงว่าตนเหนือกว่าผู้หญิง เด็กวัยรุ่นชายมักจะแสดงท่าทีแข็งแกร่งและไม่กล้าแสดงความอ่อนไหวของอารมณ์ให้ผู้อื่นเห็น เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นชายเต็มตัว
สุขภาพจิตกับการปรับตัว
การปรับตัวและการพัฒนาบุคลิกภาพเป็นกระบวนการลึกซึ้งและสลับซับซ้อนอันเป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยที่มีอิทธิพลมากมายหลายอย่าง ฉะนั้นย่องเป็นธรรมดาที่บางคนก็ประสบความสำเร็จในการปรับตัวเป็นอย่างดี และสามารถสร้างบุคลิกภาพที่ดีขึ้นมาได้ ทำให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ย่อมมีบางคนที่ประสบความยุ่งยากและความล้มเหลวในการปรับตัว สืบเนื่องมาจากสาเหตุบางประการได้เช่นกัน
กระบวนการปรับตัวหรือวิธีการที่คนเราแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ในการปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการของตนเอง เพื่อนฝูง หรือสังคม หรือในการเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเองตั้งแต่แรกเกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นเครื่องกำเนิดแบบของบุคลิกภาพซึ่งรวมทั้งคุณภาพของสุขภาพจิตของคนเราด้วย อาจกล่าวได้ว่าสุขภาพจิตเป็นผลของการปรับตัว ฉะนั้นสุขภาพจิตของคนเราจะมีคุณภาพดีหรือเลวเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน
ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิต จะช่วยให้คนเราสามารถรักษาความสมดุลทางอารมณ์ไว้ได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องส่งเสริมให้สามารถปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตสมัยใหม่ได้
ความหมายของสุขภาพจิต
ในการประชุมที่ทำเนียบขาวในเรื่องเด็กและเยาวชนในสหรัฐอเมริกา มีผู้ให้ความหมายของสุขภาพจิตที่ดีว่า
จะต้องเป็นผู้ที่สามารถมองเห็นอะไรๆตามที่เป็นจริงอย่างถูกต้อง ไม่เห็นผิดหรือเลือนไปตามจิตปรารถนา ไม่ควรจะ “ทำตัวแข็ง”ต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีเจตคติที่ยอมรับอะไรๆเสมอไปแทนที่จะเป็นเช่นนั้นเข้าควรปรับตัวได้เป็นอย่างดีและมีบุคลิกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อว่าเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต่างออกไป หรือเมื่ออยู่ใต้ภาวะกดดันก็สามารถจะประพฤติปฏิบัติได้อย่างคงเส้นคงวา”
ผู้สนับสนุนความคิดข้อนี้ได้กล่าวว่าคนที่อยู่ได้ในโลกปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยสุขภาพจิตที่ดีต้องตั้งใจและปรารถนาที่จะอยู่กับตนเองและกับผู้อื่นได้อย่างมีประสอทธิภาพ
ฉะนั้นอาจสรุปได้ว่าสุขภาพจิตที่ดีคือ ความสามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจของสิ่งแวดล้อมทุกอย่างแต่ไม่เอาแต่ใจตัวเองหรือไม่คำนึงถึงผู้อื่น
ลักษณะทั่วไปของผู้มีบุคลิกภาพที่ดี
สุขภาพจิตที่ดีเป็นผลของการปรับตัวที่ดี และการมีบุคลิกภาพที่ดีประกอบด้วยคุณลักษณะทางจิต 6 ด้านต่อไปนี้คือ
1.ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจสภาพความจริงอย่างถูกต้อง
บุคคลที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ควรจะมีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจสภาพความเป็นจริงทั้งภายนอกและภายในอย่างถูกต้องถ่องแท้ตามสภาพของมัน โดยไม่บิดเบือนความจริงด้วย ความต้องการหรือความรู้สึกส่วนตัวคนเราควรจะสามารถรับรู้และเข้าใจสภาพความจริงทั้งสองด้านคือ ความจริงภายนอกเช่น สภาวะแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม และความจริงภายใน ซึ่งได้แก่ความรู้สึกและความต้องการของตัวเราเอง ประการหลังนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าประการแรกเลยในแง่สุขภาพจิตบุคคลที่ไม่คุณสมบัติข้อนี้มักจะชอบโทษผู้อื่นเกี่ยวกับความผิดพลาดของตนเองหรือตรงกันข้ามกับบางคนที่ชอบเฝ้าแต่โทษตัวเองทั้งๆที่ไม่ใช่ความผิดของตนเอง ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่สามารถรับรู้และเข้าใจสภาพความจริงได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้การปรับปรุงตัวยุ่งยากและล้มเหลวได้
2.การแสดงอารมณ์ในลักษณะและขอบเขตที่เหมาะสม
เรื่องของอารมณ์มีทั้งแง่คุณและโทษ การมีอารมณ์ที่ไม่ดีย่อมเป็นผลร้ายต่อสุขภาพจิต ในที่นี้หมายถึงการมีอารมณ์ในลักษณะที่สมเหตุสมผลกับความจริง และเหมาะสมกับสถานการณ์ ดังตัวอย่างเช่น การสูญเสียบุคคลที่เรารักย่อมทำให้เกิดอารมณ์เศร้าโศกเสียใจ การประพฤติฝ่าฝืนระเบียบหรือกฎเกณฑ์ของสังคมย่อมทำให้เรารู้สึกผิดและละอายใจ การถูกดูหมิ่นเหยียดหยามก่อให้เกิดอารมณ์โกรธ หรือเมื่อตกอยู่ในภยันตรายย่อมเกิดอารมณ์กลัวเป็นต้น
3.ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม
คนเราเกิดมาแล้วไม่สามารถจะอยู่ตามลำพังได้ แต่จะต้องเริ่มพึ่งพาและเกาะเกี่ยวผู้ใหญ่ตั้งแต่แรกเกิด นับตังแต่วัยทารกและวัยเด็กซึ่งเด็กยังช่วยตัวเองไม่ได้ และตลอดชีวิตคนเราต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อความสุขส่วนตัวและเพื่อสวัสดิภาพอันดีของมวลมนุษย์
ในแง่สุขภาพจิตความสัมพันธ์ด้านสังคมเน้นหนักไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลกับผู้อื่นมากกว่าที่จะเน้นความสัมพันธ์ของมวลมนุษย์ในวงกว้างดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้หมายถึงความสามารถ 3 ด้านคือ
1.ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์สนิทสนมลึกซึ้งมากกว่าการรู้จักกันตามปกติธรรมดา
2.ความสามารถในการแสวงหาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์จากผู้อื่น
3.ความสามารถในการสร้าความรักและความเคารพนับถือต่อกัน
4.ความสามารถในการทำงานที่อำนวยประโยชน์
การตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานและความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงานที่ให้คุณประโยชน์เป็นคุณลักษณะสำคัญอีกด้านหนึ่งของสุขภาพจิตที่ดี คนเราจำเป็นต้องเลือกอาชีพและประกอบอาชีพการงานที่ตนถนัดให้เต็มความสามารถ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งการยกย่องนับถือจากผู้อื่นและความเชื่อมั่นและการเคารพตนเอง อันจะทำให้คนเรารู้สึกตัวว่ามีประโยชน์ต่อสังคม และสามารถหาเลี้ยงครอบครัวหรือช่วยเหลือคนในสังคมได้ ปัญหาใหญ่ของแทบทุกสังคมในปัจจุบันนี้ คือ ปัญหาคนว่างงาน ซึ่งยังผลให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพจิตอย่างมากมาย
5.ความรักและความต้องการทางเพศ
ความรักและความต้องการทางเพศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพจิตของคนเรา เกี่ยวกับความต้องการทางเพศนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่า ในบรรดาความประพฤติด้านต่างๆทั้งหลายของคนเรา ความประพฤติทางด้านเพศสัมพันธ์เป็นด้านที่มรข้อขัดแย้งและข้อห้ามมากยิ่งกว่าด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันนี้อิทธิพลจากการไหลบ่าของวัฒนธรรมตะวันตกเข้าสู่สังคมไทย เป็นเหตุให้การประพฤติปฏิบัติทางเพศของคนไทยโน้มเอียงไปตามแบบตะวันตกอย่างน่าวิตกยิ่ง ประกอบกับสาเหตุทางสังคมอีกหลายด้าน ได้ก่อให้เกิดการประพฤติผิดและอาชญากรรมทางด้านเพศในหมู่เด็กวัยรุ่นอย่างมากมาย เช่นปัญหาการลักลอบได้เสียกันในวัยเรียน ปัญหาลักเพศ การข่มขืนหญิงสาวหรือเด็ก เป็นต้น
6.ความสามารถในการพัฒนา “ตน”(Self)
ตั้งแต่วัยเด็กทุกคนต้องเผชิญกับความกดดันต่อเนื่องกันเรื่อยมา จากความพยายามในการดำเนินชีวิตทั้งในด้านการกระทำ การคิด เพื่อจะเป็นบุคคลตามแบบฉบับที่พ่อแม่และสังคมกำหนด คนเราต้องพยายามทำตัวให้สอดคล้องกับสังคมที่ตนสังกัด หรือบุคคลที่มีความสำคัญต่อชีวิตของตนเพื่อให้มีความสุขราบรื่น ปราศจากความขัดแย้งหรือถูกสังคมรังเกียจหรือลงโทษในการปฎิบัติตัวตามบทบาทที่สังคมกำหนดให้นี้ บางครั้งคนเราเกิดความรู้สึกขัดขืน และไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตนต้องกระทำ เท่ากับว่า “ตน”สองรูปได้เกิดการขัดแย้งกันขึ้น ซึ่งหมายความว่า การที่จะปฎิบัติตนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้อื่นย่อมเป็นการกระทบกระเทือนความรู้สึกและความต้องการของตนเอง หรือ “ตนที่แท้จริง”ซึ่งเป็นประหนึ่งหัวใจของบุคลิกภาพครั้นจะทำตาม “ตนที่แท้จริง” ก็จะกระทบกระเทือนสวัสดิภาพและความปลอดภัยของตนเองในสังคม
ลักษณะของเด็กวัยรุ่นที่ปรับตัวได้ดีและมีสุขภาพจิตดี
ลักษณะของสุขภาพจิตที่ดีอันเป็นผลจากความสำเร็จในการปรับตัวของเด็กวันรุ่น มีดังต่อไปนี้
1.มีความเชื่อมั่นและความรู้สึกมั่นคง
เป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างเต็มที่ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่มีปมด้อย ไม่กลัวเกรงตำแหน่ง ความยิ่งใหญ่ หรือการก้าวร้าวระรานของผู้ใดก็ตาม ในขณะเดียวกันก็รู้จักยอมรับความสามารถและความสำเร็จของผู้อื่นที่เหนือกว่าตน มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นด้วยความจริงใจ
2.มีลักษณะอบอุ่นเป็นมิตร
รักใคร่ผู้อื่นและได้รับความรักตอบแทน มีลักษณะนิสัยน่าคบ เมตตากรุณาต่อผู้อื่นด้วยน้ำใสใจจริง มิใช่เพื่อหวังผลตอบแทน จิตใจไม่โหดร้ายหรือเห็นแก่ตัว แต่รู้จักเกรงใจและคำนึงถึงจิตใจผู้อื่น
3.มีความรู้สึกตระหนักในคุณค่าของภาระหน้าที่ที่ปฏิบัติ
รู้จักใช้ความสามารถและสติปัญญาอย่างเต็มที่ในการศึกษาเล่าเรียน และในกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน เข้าร่วมชุมนุมต่างๆของโรงเรียนด้วยความสนุกและสนใจ ขณะอยู่บ้านก็ช่วยเหลืองานบ้านเท่าที่จะทำได้ เช่น ตัดหญ้า ล้างรถ ทำงานบ้าน เป็นต้น
4.พร้อมที่จะรับประสบการณ์ใหม่ๆและสนใจในกิจกรรมครอบครัว
มีความสุขในสิ่งต่างๆตามความถนัดและความสนใจเช่น การเล่นเทนนิสหรือกีฬาอื่นๆ การเล่นดนตรีที่ตนชอบถึงแม้จะเล่นได้ไม่ดีนัก ในระหว่างปิดภาคฤดูร้อนอาจสมัครทำงานเป็นพนักงานขายของ ทำงานก่อสร้าง ร่วมกิจกรรมค่ายกับสมาคมเยาวชนต่างๆ หรือช่วยอาสาพัฒนาชนบท
5.รู้จักรักษาอนามัยสุขภาพร่างกายสม่ำเสมอ
ทั้งนี้โดยการรักษาสุขภาพอนามัยอย่างสม่ำเสมอในการกิน การนอน และออกกำลังกาย เป็นต้น
6.มีความกล้าที่จะเผชิญความจริงในชีวิต
ไม่พยายามหลบหนีปัญหาต่างๆที่จะนำความทุกข์ใจและความผิดหวังมาให้ตลอดจนกล้ามี่จะเผชิญ
ความจริงเกี่ยวกับสภาพของตนเองที่นำความทุกข์ใจมาให้ เช่น ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นและความผิดพลาดในชีวิตโดยไม่หาทางออกด้วยการกล่าวโทษผู้อื่นหรือกลบเกลื่อนข้อบกพร่องของตนเองด้วยวิธีปรับตัวแบต่างๆเช่น การหาเหตุผลอื่นมากลบเกลื่อนหรือปิดบัง การคุยโอ้อวด ผู้ที่ปรับตัวได้ดีจะเผชิญความจริงอย่างกล้าหาญโดยไม่พยายามบิดเบือนความจริงต่อผู้อื่น
7.มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง
ไม่ท้อถอยและหวาดหวั่นพร้อมที่จะแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเต็มกำลังความสามารถและไม่ว่าจะเผชิญต่อความข้องคับใจมมากเพียงไรก็ตาม ก็ยังสามารถไว้ซึ่งบุคลิกภาพที่น่านับถือ
8.มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี
สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางครอบครัวและสังคมได้ง่าย มีใจกว้างพอที่จะรับฟังความคิดและข้อโต้แย้งของผู้อื่นในเวลาเดียวกันเป็นผู้ยึดมั่นในหลักการที่ดีมีมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติสูงและยึดถือค่านิยมที่ดีงาม
9.มีอารมณ์ซึ่งช่วยส่งเสริมแทนที่จะขัดขวางสวัสดิภาพของชีวิต
ไม่มีอารมณ์เกลียดเคียดแค้น อิจฉาริษยาหรือแม้ว่าจะมีอารมณ์กลัวหรือโกรธในบางครั้ง แต่รู้จักที่จะยับยั้งและควบคุมอารมณ์ได้ มีอารมณ์รักใคร่และเป็นมิตรกับเพศตรงข้ามได้ด้วยดี
10.ปราศจากนิสัยในทางจิตที่กระทบกระเทือนบุคลิกภาพ
ไม่ลงโทษตัวเองเมื่อทำผิด แต่จะจดจำประสบการณ์ไว้เป็นบทเรียนที่มีค่าไม่หวาดระแวงสงสัยผู้อื่น ไม่หยุมหยิมในเรื่องเล็กน้อยที่ไร้สาระ ไม่เคร่งเครียดและวิตกกังวลจรเกินสาเหตุ
ความล้มเหลวในการปรับตัว : ความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ
1.ลักษณะความยุ่งยากในการปรับตัว
ความยุ่งยากในการปรับตัวไม่ว่าจะมากน้องเพียงใดก็ตามมักจะปรากฏอาการในลักษณะต่อไปนี้
1.1อาการเคร่งเครียด
อาการเคร่งเครียดนับว่าสมุฏฐานสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของความยุ่งยากในการปรับตัว บางราบถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ หรือต้องการความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา อาการเครียดนี้อาจแสดงออกในรูปของความวิตกกังวล ความกระวนกระวายใจไม่เป็นสุข ความหดหู่และท้อแท้ใจ ความรู้สึกหมกมุ่นว่าตนได้กระทำผิด และความกลัวเป็นต้น ภาวะเช่นนี้ถ้ามีมากย่อมทำให้ชีวิตมีแต่ความทุกข์ และแสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นประสบความล้มเหลวในการปรับตัวในการดำเนินชีวิต
1.2อาการเจ็บป่วยทางกาย
โรคภัยไข้เจ็บทางกายก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเคร่งเครียดอันเกิดจากปัญหายุ่งยากในการปรับตัวในการดำเนินชีวิต โรคที่มักจะเป็นได้แก่โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้ ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจจะร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตก็ได้
1.3พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานของสังคม
สมุฏฐานของความยุ่งยากในการปรับตัวข้อหนึ่ง ได้แก่ พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานอันดีงามของสังคม เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติผิดจากระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ของหมู่คณะ หรือขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นแล้วยังสร้างปัญหาให้แก่ตนเองด้วย ผู้ที่ประพฤติผิดร้ายแรงก็อาจถูกกักขังไว้ในสถานอบรมและกักกัน หรือที่คุมขัง หรือ โรงพยาบาลโรคจิตเป็นต้น
1.4ความหย่อนสมรรถภาพในการดำเนินชีวิต
ความหย่อนสมรรถภาพในการดำเนินชีวิต อาจปรากฏได้ในรูปแบบต่างๆ เช่นขณะนั่งสอบจะเกิดความกลัวและความว้าวุ่นวิตกกังวลมากจนเกินเหตุ จนทำให้คิดอะไรไม่ออกหรือคิดสับสนวุ่นวาย และหมดสมรรถภาพในการรวบรวมความคิดอย่างมีระเบียบ ซึ่งทำให้สอบตกในวิชานั้น หรือการทำงานที่ตนเคยทำได้สำเร็จเป็นอย่างในอดีต จนถึงขั้นถูกไล่ออกจากงาน หรือจากโรงเรียนเป็นต้น
2.สาเหตุของความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ
สาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์อาจเป็นได้ทั้งสาเหตุเรื้อรังและสาเหตุเฉียบพลัน สาเหตุเรื้อรังส่วนใหญ่เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในแง่ต่างๆ ทั้งนี้หมายความถึงการที่คนเรามีข้อขัดแย้งระหว่างแรงผลักดัน หรือความต้องการทางร่างกายและทางจิตใจกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวาง เช่นในด้านความต้องการทางเพศ การสังคม การประกอบอาชีพ และชีวิตครอบครัว เป็นต้น
สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ ได้แก่
1.องค์ประกอบพื้นฐานทางพันธุกรรม ได้แก่อิทธิพลของโครงสร้างทางพันธุกรรม ซึ่งยังผลให้การทำงานของโครงสร้างทางสรีระน้อยหรือมากผิดปกติจนทำให้เกิดความไม่สมดุลในร่างกาย เช่นความแปรปรวนของต่อมไร้ท่อ
2.ประสบการณ์ทางสังคมตั้งแต่ชีวิตวัยเด็ก ได้แก่ ประสบการณ์หรือสิ่งแวดล้อมในชีวิตตั้งแต่วัยทารกจนเติบโตมีความสำคัญต่อการสร้างแบบแผนการปรับตัว ซึ่งจะส่งผลให้ปรับตัวได้สำเร็จมากน้อยเพียงไรในชีวิต ความล้มเหลวในการปรับตัวของคนเราเกิดจากผลของการเรียนรู้วิธีปรับตัวแบบผิดๆ ในการเผชิญสถานการณ์หรือแรงผลักดันทั้งภายนอกและภายในในการดำเนินชีวิตในสังคม
3.ความไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานซึ่งส่วนใหญ่คือ ความต้องการด้านเพศให้เป็นไปตามแบบฉบับของพฤติกรรมที่สังคมยอมรับได้ สาเหตุข้อนี้จะพบมากโดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่น
4.ความเหนื่อยล้า ความวิตกกังวล หรือความเบื่อหน่ายที่มากผิดปกติ เนื่องจากการงาน ชีวิตส่วนตัว ความเจ็บป่วยเรื้อรัง การขาดแคลนอาหาร การขาดวิตามิน การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดความเหนื่อยเพลียและความเครียด
5.ความเปลี่ยนแปลงทางสรีระในระยะย่างเข้าวัยรุ่น และการขาดการเตรียมตัวพร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในวัยนี้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของหญิงวัยกลางคนในระยะหมดประจำเดือนด้วย
6.ความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรือการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือไขสันหลัง
7.เชื้อโรค โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสขึ้นสมอง ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนการทำงานของระบบประสาทส่งนกลางและสมอง รวมทั้งโรคที่เกิดจาดพิษสุรา หรือยาเสพติด หรือที่เกิดจากพิษร้ายในร่างกายโดเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร
8.ความสะเทือนใจอย่างรุนแรงและฉับพลันจากประสบการณ์บางอย่างในชีวิตที่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจสุดขีด เช่น ความตายอย่างกะทันหันของผู้ที่เรารักใคร่ การเห็นภาพคนได้รับบาดเจ็บ หรือล้มตายในเหตุการณ์จลาจลนองเลือดเทื่อวันที่6เป็นต้น
9.ความกดดันที่เกิดจากภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่บีบคั้นจิตใจ ความยากจนย่อมเป็นเหตุของปัญหา เพราะคนเราจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชีวิตตนเองและครอบครัว บางคนทนความบีบคั้นไม่ไหวจึงกลายเป็นโรคประสาทโรคจิตหรือมีบุคลิกภาพแปรปรวน ซึ่งแสดงออกทางพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานของสังคม เช่น หันเข้าสุรา ยาเสพติด หรือประกอบอาชญากรรมต่างๆ นอกจากนี้ความยากจนยังเป็นเหตุปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาของเด็กซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต เพราะการขาดความรู้ทักษะที่จะเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพย่อมเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่ปัญหาความยุ่งยากได้
นอกจากนี้ภาวะทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายอันสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกเคร่งเครียดและความไม่แน่ใจแก่คนทั่วไป โดยเฉพาะคนในวัยหนุ่มสาวซึ่งมีอารมณ์แรง และต้องการแสวงหาอุดมการณ์ยึดเหนี่ยวยิ่งเกิดความสับสนว้าวุ่นใจ และตกอยู่ในภาวะเคร่งเครียดกกดดันจิตใจอย่างหนัก


ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการปรับตัวและการดำเนินชีวิต
คุณลักษณะพิเศษข้อหนึ่งซึ่งปรากฏเฉพาะในตัวมนุษย์ ได้แก่ ความต้องการที่จะรู้จักและเข้าใจในตัวเองรวมทั้งโลกที่ตนอาศัยอยู่ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ความรู้สึกเช่นนี้ยังผลให้มนุษย์พากเพียรแสวงหาความเข้าใจในตนเองมาแต่แรกเริ่ม เริ่มต้นจากการที่มนุษย์ในยุคโบราณมีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับตนเองหนักไปในด้านความต้องการด้านร่างกาย เพื่อความอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภยันตรายของยุคสมัยนั้นเรื่อยมา ในปัจจุบันนี้ความเจริญทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยีได้ทำให้สภาพสังคมเปลี่ยนไปจนถึงขั้นที่มนุษย์สามารถเอาชนะ และควบคุมธรรมชาติแวดล้อม หรือสภาวะทางกายภาพได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นในโลกสมัยใหม่ซึ่งสภาพสังคมเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงได้หันเหความสนใจจากความธรรมชาติมาสู่ปัญญาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องทำความเข้าใจให้ได้ ในสมัยปัจจุบันยิ่งมนุษย์สามารถเอาชนะความยากจน โรคภัยไข้เจ็บและภัยธรรมชาติต่างๆอาทิเช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง แผ่นดินไหว ได้มากเท่าไรก็ยิ่งมีเวลาที่จะทุ่มเทความสนใจและความมานะพยายามในการคิดค้น และศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตในสังคมมากขึ้นเพียงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแสวงหาความเข้าใจในตนเองในแง่ความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งเรื่องความรู้สึกนึกคิด หรือสภาวะทางจิตของตนนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่อมนุษย์ในสังคมที่เจริญแล้วมากกง่ามนุษย์ที่ยังด้อยพัฒนา ซึ่งถือการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ในปัจจุบันนี้มีผู้สนใจศึกษาค้นคว้ากันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับปัญหาความทุกข์ใจและความข้องคับใจ ตลอดจนพยายามคิดค้นวิธีการหรือกลวิธีต่างๆเพื่อใช้ในการปรับตัวหรือเผชิญปัญหาและอุปสรรคนานาประการที่เกิดขึ้นในชีวิตทั้งนี้โดยมุ่งหมายให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข และประสบความสำเร็จในโลกหรือสังคมสมัยใหม่ที่ทั้งเจริญก้าวหน้าและสับสนวุ่นวายเช่นที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
ประวัติความเป็นมาของความรู้เรื่องการปรับตัว
สมัยก่อนมักจะมีคำกล่าวในทำนองที่ว่า “คนนั้นเป็นคนดี” หรือ “คนนั้นเป็นคนบ้า” ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีตามความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นสมัยนั้นว่าบุคคลผู้ถูกกล่าวขวัญถึงนั้นเป็นคนปกติธรรมดาหรือมีความผิดปกติจากคนธรรมดาสามัญทั่วไป ด้วยเหตุใดๆก็ตาม เช่นถูกภูตปีศาจเข้าสิง ถูกสะกดด้วยเวทมนต์คาถา หรือถูกครอบงำด้วยอำนาจทางไสยศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งอันทำให้สติฟั่นเฟือนและควบคุมจิตใจไม่อยู่ แต่ในสมัยปัจจุบัน คำกล่าวข้างต้นจะเปลี่ยนรูปใหม่เป็น “คนนั้นปรับตัวได้” หรือ “คนนี้ปรับตัวไม่ได้” ซึ่งมนุษย์ในสมัยโบราณไม่สามารถเข้าใจความหมายใหม่นี้ได้อย่างแน่นอน ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการ
ปรับตัวนี้เป็นผลผลิตใหม่อย่างหนึ่งของยุคแห่งความเจริญทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ หรือกล่าวได้ว่าความคิดเกี่ยงกับเรื่องการปรับตัวของมนุษย์ตั้งต้นจากจุดที่ Darwin ได้ประกาศผลค้นคว้าของเขาเกี่ยวกับทฤษฎีแห่งวิวัฒนาการและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตในกลางศตวรรษที่ 19
ประวัติความเป็นมาของความรู้เรื่องการปรับตัวนี้จึงนับได้ว่ามีจุดเริ่มต้นจากการที่มนุษย์ในสมัยโบราณมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจอย่างรุนแรง หรือวิกลจริต เช่นที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า “คนบ้า” ดังได้กล่าวแล้วนี่เอง ความทุกข์ใจความเคร่งเครียดใจที่นักจิตวิทยาสมัยใหม่รวมเรียกว่าความข้องคับใจนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่พ้นไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดนับแต่โบราณกาลมาแล้ว
มนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์คงจะได้สังเกตอิทธิพลแห่งจิตที่มีต่อร่างกายมาช้านานแล้วจึงได้ตั้งตนเป็นพ่อมดหมอผี ผู้วิเศษ คนทรงเจ้าเข้าผี หรือผู้มีอำนาจลึกลับทางไสยศาสตร์และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสมัยโบราณเรื่อยมาในการเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆขึ้นซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปในแง่ความคิดค้นและพยายามที่จะใช้อำนาจจิตบำบัดอาการป่วยทางกายตลอดจนควบคุมพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ แม้ในสมัยนี้ซึ่งเป็นสมัยแห่งความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ชนบางหมู่บางเหล่าก็ยังยึดมั่นในพิธีกรรมทางไสยศาสตร์อย่างมั่นคงไม่มีเสื่อมคลาย นักประวัติศาสตร์และจิตแพทย์หลายคน ผู้ศึกษาประวัติความเป็นมาขอวิชาจิตเวชต่างก็ย้ำความจริงที่ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งรวมถึงสาขาจิตเวชด้วยนั้นมีประวัติความเป็นมาสืบเนื่องมาจากบรรดาพ่อมดหมอผี หรือเจ้าแห่งเวทมนต์คาถาผู้ตั้งตนเป็นหมอรักษาผู้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บทางกาย หรือผู้ป่วยทางจิตนี่เอง
ในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกสาขาเจริญก้าวหน้าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ความเชื่อทางไสยศาสตร์และอำนาจลี้ลับต่างๆ มนุษย์ได้ใช้เหตุผลและการสังเกตของจริงในการศึกษาแทนที่จะหลงเชื่องมงายในอิทธิพลลึกลับที่ไม่อาจเข้าใจหรือไม่บังอาจแตะต้องได้เช่นแต่ก่อนและจากข้อมูลต่างๆที่ค้นคว้ารวบรวมได้นี้ นักวิทยาศาสตร์จึงได้วิเคราะห์และตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้ในวิชาสาขาต่างๆขึ้น อาทิเช่น วิชาเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยาเป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาตรวจสอบพฤติกรรมของมนุษย์อีกด้วยแต่ว่าอาจจะเนื่องมาจากเหตุที่ว่า มนุษย์มีความเชื่อฝังเชื่อมาแต่ดั้งเดิมว่าพฤติกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ และอยู่นอกขอบเขตของวิทยาศาสตร์ ดังนั้นการศึกษาในเรื่องนี้โดยอาศัยหลักวิชาวิทยาศาสตร์จึงเป็นไปล่าช้ากว่าวิชาสาขาอื่น ผู้คนเพิ่งเริ่มตื่นตัวมากขึ้นนับตั้งแต่ Darwin ได้ประกาศทฤษฎีแห่งวิวัฒนาการในกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ประจวบกับในครึ่งหลังสตวรรษที่ 19 นั้นได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป ซึ่งนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อันน่าตื่นเต้น อีกทั้งใน ค.. 1860 นักวิทยาศาสตร์และปรัชญาเมธีเยอรมันผู้มีชื่อเสียงคือ Sigmund Freud ซึ่งได้เริ่มศึกษาจิตใจของมนุษย์โดยการวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์ ผลงานค้นคว้าของเขาได้นำไปสู่ทฤษฎีจิตวิเคราะห์อันยังผลให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับบุคลิกภาพและพฤติกรรมของคนเรานั่นเอง สรุปได้ว่าเพิ่งจะเป็นที่ยอมรับกันในปลายศตวรรษที่ 19 นี้เองว่าในการศึกษาเรื่องพฤตกรรมของมนุษย์นี้เราสามารถใช้วิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์ศึกษาได้เป็นอย่างดี และจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วนี่เองวิชาจิตวิทยาจึงได้รับการรับรองว่าเป็นวิทยาการสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ
ในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์นี้นักจิตวิทยาได้เน้นหนักเกี่ยวกับสาเหตุทางชีววิทยาแต่แต่ละบุคคลและอิทธิพลของสังคม การศึกษาวิจัยของนักจิตวิทยาบางพวกในปัจจุบันได้เน้นหนักเกี่ยวกับสภาวะพื้นฐานทางชีววิทยาของบุคคลว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหายุ่งยากและความล้มเหลวในการปรับตัวในขณะเดียวกัน นักจิตวิยาอีกพวกหนึ่งกลับมีความเห็นว่าสภาวะแวดล้อมทั้งทางกายภาพ และทางสังคมมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ อย่างไรก็ดีนักจิตวิทยาผู้ศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพและการปรับตัวส่วนใหญ่ทั่วๆไปต่างยอมรับความสำคัญของอิทธิพลร่วมระหว่างสองสิ่ง คือสภาวะพื้นฐานทางชีววิทยาของบุคคลกับสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าทุกคนเกิดมาพร้อมด้วยโครงสร้างทางชีววิทยาที่แตกต่างกัน และเติบโตในสิ่งแวดล้อมซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นต่างๆกัน ดังนั้น แต่ละคนจึงแสดงพฤติกรรมออกมาในลักษณะแตกต่างกัน
นอกเหนือจากอิทธิพลร่วมระหว่างสองสิ่งนี้แล้ว ในชีวิตที่ผ่านมาแต่ละคนยังได้รับประสบการณ์ทั้งในแง่ส่วนตัวและในแง่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งมีส่วนสร้างบุคลิกลักษณะที่เป็นแบบเฉพาะตัวขึ้นมาด้วยประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตที่ผ่านมาของแต่ละคนย่อมไม่ซ้ำกับผู้ใด เช่น บางคนประสบความรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงเนื่องจากความล้มเหลวในขณะที่บางคนประสบความสำเร็จและความภาคภูมิใจ หรือบางคนสะสมความรู้สึกเก็บกดไว้เป็นเวลายาวนาน หรือบางคนต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมบางอย่างในชีวิตที่ผ่านมาเป็นต้น ส่วนประสบการณ์ร่วมนั้นหมายถึงการที่เราได้รับประสบการณ์บางอย่างที่คล้ายคลึงกับผู้อื่น ทั้งนี้อาจจะเป็นผลเนื่องจากการอยู่ร่วมสังคมเดียวกันภายใต้อิทธิพลทางวัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งมีส่วนทำให้คนเราได้รับประสบการณ์คล้ายคลึงร่วมกันเกี่ยวกับแผนปฏิบัติในด้านต่างๆ เช่น การดำเนินชีวิต และการเรียนรู้ปรัชญา และค่านิยมของสังคมนั้นๆเป็นต้น
กล่าวโดยสรุปได้ว่าตามหลักการวิชาจิตวิทยาสมัยใหม่ การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ตามหลักเกณฑ์วิทยาศาสตร์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาสภาวะทั้งสามด้านของมนุษย์ คือศึกษาและสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์โดยพิจารณาสภาวะพื้นฐานทางชีววิทยา เช่น สภาวะทางกาย ละอิทธิพลของพันธุกรรมประกอบกับสภาวะทางจิตอันเกิดจากประสบการณ์ทั้งหลายในชีวิตร่วมกับสภาวะแวดล้อมของแต่ละบุคคลด้วย
นักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับสภาวะทางจิตและการปรับตัวของมนุษย์ต่อเนื่องกันตลอดมา บางครั้งผลการวิจัยค้นคว้าที่นักจิตวิทยาคนหนึ่งได้สรุปหรือตั้งเป็นทฤษฎีไว้และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในระยะหนึ่งอาจถูกหักล้างในเวลาต่อมโดยนักจิตวิทยาอีกคนหนึ่งซึ่งทำการศึกษาค้านคว้าและพบว่าทฤษฎีที่ตั้งไว้ก่อนหน้านั้นไม่ถูกต้องก็ได้ การที่ปัญหาเกี่ยวกับสภาวะทางจิตของมนุษย์และการปรับตัวเป็นปัญหาที่ยังหาข้อยุติที่แน่นอนเด็ดขาดลงไปยังไม่ได้ดังกล่าวนี้จึงเท่ากับเป็นการยั่วยุ หรือท้าทายบรรดานักจิตวิทยาทั้งหลายให้เสาะแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยการศึกษา และค้นคว้าวิจัยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีความมุ่งหมายที่จะได้มาซึ่งความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความมุ่งหมายสำคัญอีกข้อหนึ่งนอกเหนือจากนี้ก็คือ นักจิตวิทยาตระหนักดีว่าความรู้แล้วความเข้าใจในวิชาจิตวิทยาอำนวยคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่มนุษย์เพราะการที่มนุษย์มี่ความเข้าใจในเรื่องต่างๆของตัวมนุษย์เอง เช่น การแสดงออกของพฤติกรรมและสาเหตุของพฤติกรรม อิทธิพลของพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ความต้องการของมนุษย์ทั้งทางกายและทางจิต ปัญหาและความข้องคับใจตลอดจนการปรับตัวและการพัฒนาบุคลิกภาพ เหล่านี้ย่อมทำให้มนุษย์รู้จักตัวเองมากขึ้น และมีความเข้าใจตัวเองถูกต้องและลึกซึ้ง อันเป็นผลให้มนุษย์สามารถปรับตัวในการดำเนินชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ดีกว่าสมัยก่อน
ความหมายของการปรับตัว
Lazarus (1969) ได้อธิบายความเป็นมาของการปรับตัวว่ามีกำหนดเริ่มแรกมาจากวิชาชีววิทยา กล่าวคือ Darwin เป็นคนเริ่มใช้คำว่า “การปรับตัว” ในทฤษฎีว่าด้วยการวิวัฒนาการของเขาใน ค..1859โดยได้สรุปความคิดว่า สิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมของโลกที่เต็มไปด้วยภยันตรายได้เท่านั้นที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ต่อมานักจิตวิทยาได้ขอยืมคำว่า “การปรับตัว” ทางชีววิทยามาใช้ในความหมายทางจิตวิทยาในการศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์นี้จำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องการปรับตัวทั้งในแง่ชีววิทยาและจิตวิทยา ในแง่ชีววิทยาได้แก่ การปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการของร่างกาย ส่วนในแง่จิตวิทยาหมายถึงการปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการของจิตใจ ตัวอย่างของการปรับตัว เช่น การที่มนุษย์รู้จักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศเพื่อให้ร่างกายมี่ความอบอุ่นพอดี ลักษณะของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ก็มีแบบต่างๆกันไปทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะดินฟ้าอากาศและภาวะแวดล้อมเช่นกัน นอกจากนี้มนุษย์ยังแสดงให้เห็นความสามารถในการปรับตัวตามสภาวะที่เป็นอยู่ เช่น ชาวเอสกิโมในแถบอาร์คติคสร้างบ้านด้วยน้ำแข็งและหิมะเป็นต้น
ช่วงวัยวิกฤตแห่งการปรับตัว
โดยปกติแล้ววิกฤตการณ์หรือปัญหายุ่งยากในการปรับตัวอาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะในชีวิตวัยใดๆได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะที่เหตุการณ์ร้ายแรงได้เกิดขึ้น และมนุษย์ต้องปรับตัวตามสภาวะแวดล้อมของตนตลอดชีวิต แต่อย่างไรก็ตามในบรรดาวัยต่างๆของชีวิตวัยรุ่นเป็นวัยซึ่งคนเราประสบปัญหาและเผชิญวิกฤตการณ์ในการปรับตัวที่คล้ายคลึงร่วมกันมากกว่าวัยอื่น
วัยรุ่นจริงๆนั้นนับเริ่มจากจุดที่เด็กบรรลุความเจริญเต็มที่ทางเพศ หรือความเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ตอนอายุประมาณ 13 ปีเรื่อยไปจนถึงจุดที่กฎหมายยอมรับว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว คือเป็นอิสระพ้นจากความคุ้มครองของผู้ใหญ่ เช่น บิดามารดา และสามารถรับผิดชอบและปกครองตัวเองได้แล้ว อีกทั้งมีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งอีกด้วย จุดที่เด็กเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอันเป็นระยะนำเข้าสู่วัยรุ่นนั้นก็เร็วช้าต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ส่วนจุดบรรลุความเป็นผู้ใหญ่ทั้งทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และการสังคมก็เร็วช้าต่างกันไปเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับสติปัญ
าของเด็กเองและสิ่งแวดล้อมของเด็กในช่วงวัยรุ่นที่ส่งเสริมการปรับตัวของเด็กให้เข้าสถานภาพการณ์ของผู้ใหญ่มากน้อยเพียงไร ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่นๆ โดยทั่วไป ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย กฎหมายยอมรับว่าผู้มีอายุครบ20ปีบริบูรณ์เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ฉะนั้นโดยปกติเรานิยมถือว่าอายุย่าง 21ปีเป็นตอนสิ้นสุดของวัยรุ่น และเป็นจุดเริ่มย่างก้าวสู่วัยผู้ใหญ่
กระนั้นก็ดี ตามสภาพความเป็นจริงแล้วเราจะพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เดียวที่ยังไม่บรรลุภาวะความเป็นผู้ใหญ่ทั้งๆที่อายุย่าง 21 ปีตามขีดกำหนดข้างต้นแล้วก็ตาม นักการศึกษาส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ช่วงอายุระหว่าง 15-25 ปี ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างวัยรุ่นตอนปลายกับวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นช่วงวัยสำคัญของชีวิตที่คนเราจะประสบความยุ่งยากหรือวิกฤตการณ์ในการปรับตัวมากที่สุด เพราะในสังคมปัจจุบันคนหนุ่มสาวในช่วงวัยนี้ยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เขายังมรภาระมากมายหลายด้านที่ต้องพยายามปฏิบัติให้ลุล่วง เช่น การสร้างแบบแผนการปรับตัวและบุคลิกภาพที่ดี การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสร้างฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม และการตัดสินใจเลือกค่านิยม เพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิต ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความผิดปกติทางจิตประเภทจิตเภท (Schizophrenia) มักจะเป็นในวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมากกว่าวัยอื่นๆ
หากจะเปรียบชีวิตวัยรุ่นกับความสดชื่นและเขียวชอุ่มของธรรมชาติก็คงจะไม่ผิด เพราะว่าวัยนี้เป็นวัยแห่งโอกาสทองของชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหวังและพลัง และเป็นช่วงที่เด็กหนุ่มเด็กสาวจะตักตวงความสุขความสำเร็จไว้ให้มากที่สุด กระนั้นก็ดีเราต้องไม่ลืมว่าวัยนี้เป็นวัยแห่งปัญหาและความยุ่งยาก หรือความล้มเหลวสำหรับชีวิตของเด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
เป็นที่ยอมรับกันว่าวัยรุ่นเป็นรยะเวลาซึ่งชีวิตประสบความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และการสังคม ได้เรียกวัยนี้ว่า “วัยพายุบุแคม” เพราะวัยนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตจากความเป็นเด็กเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาวซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในเวลาต่อไป และเป็นวัยซึ่งเด็กมีอารมณ์รุนแรง มีความต้องการ และแรงผลักดันตามธรรมชาติของหนุ่มสาวอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ความคิดอ่านอันสืบเนื่องจากความเจริญของสมองมีมากขึ้นและลึกซึ้งขึ้นตามลำดับ ความสัมพันธ์ทางสังคมขยายขอบเขตออกไปจากวัยเด็ก เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองมากขึ้น เช่น บทบาทและสถานะของตนในสังคม เด็กต้องเผชิญปัญหาและข้อขัดแย้งมากมายหลายด้านในช่วงวัยรุ่นนี้ บางครั้งเขาจะรู้สึกเบิกบาน แจ่มใส แข็งแกร่งเต็มไปด้วยความหวังและพลัง แต่บางครั้งกลับรู้สึกวิตกกังวลใจ เคร่งเครียดหรือผิดหวังท้อแท้ เขาจะรู้สึกว้าวุ่นใจเกี่ยวกับฐานะหรือบทบาทของตนในชีวิต เช่น จะทำอะไร จะเรียนอะไรหรือจะเลือกอาชีพอะไรจึงจะเหมาะแก่ตนเองเป็นต้น ในวัยนี้ปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ การแต่งาน ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เด็กต้องเรียนรู้ละตัดสินใจ ปัญหาที่เด็กวัยรุ่นต้องเผชิญยังมีอีกมมกมายนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้
สิ่งต่างๆที่เด็กต้องเรียนรู้และเผชิญในวัยรุ่นเหล่านี้ นักจิตวิทยาหลายท่านถือว่าเป็นภาระอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับพัฒนาการของวัยที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติทางร่างกายและจิตใจในวัยนี้ และเป็นหน้าที่ของเด็กวัยรุ่นที่พึงเรียนรู้ และปฏิบัติให้สำเร็จลุล่วงอันจะช่วยให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานภาพของความเป็นผู้ใหญ่ได้ในที่สุด
การศึกษาปัญหาการปรับตัวของเด็กวัยรุ่นทั้งในประทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อเท็จจริงตรงกัน กล่าวคือ เด็กวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มแรกรุ่นระหว่างอายุประมาณ 13-14 ปี มักไม่ประสบปัญหาร้ายแรงถึงขั้นล้มเหลวขนาดเป็นโรคจิต โรคประสาท หรือมีบุคลิกภาพแปรปรวนอันแสดงออกทางพฤติกรรมการปรับตัวแบบผิดๆ ซึ่งเบี่ยงเบนจากมาตรฐานอันดีงามของสังคม อาทิ การก้าวร้าวและประพฤติตนเป็นอันธพาล การติดสุรายาเมา หรือยาเสพติดและกามวิปริตซึ่งล้วนแต่นำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย วิ่งราว จี้ปล้น หรือข่มขืนเป็นต้น วิกฤตการณ์แห่งการปรับตัวดังกล่าวนี้มักจะเกิดแก่เด็กวัยรุ่นอายุเกิน 14 ปีขึ้นไปแทบทั้งสิ้น จากการศึกษาเด็กและเยาวชนไทยที่กระทำผิดในลักษณะต่างๆเช่น ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย หรือความผิดเกี่ยวยาเสติดซึ่งถูกส่งตัวมายังสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ปรากฏว่าส่วนใหญ่ประมาณ 80-90% มีอายุอยู่ในข่ายที่เรียกว่า เยาวชน ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.. 2494 หมายถึงบุคลอายุเกินกว่า 14ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ส่วนผู้กระทำผิดที่ยังถือว่าเป็นเด็กคืออุต่ำกว่า 14 ปีบริบูรณ์ มีจำนวนน้อยมาก ทั้งนี้นับว่าใกล้เคียงกับข้อมูลจากการศึกษาบางอันเกี่ยวกับปัญหาเด็กวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ชี้ให้เห็นความล้มเหลวในการปรับตัวของเด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยในช่วงอายุระหว่าง 15-19 ปี ซึ่งมีจำนวนสูงถึงประมาณ 40% ที่ปรับตัวไม่สำเร็จ และเกิดความผิดปกติทางจิตถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโรคจิต ส่วนเด็กวัยรุ่นระหว่างอายุ 10-14 ปี เข้าโรงพยาบาลโรคจิตน้อยมากเพียง 4% ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเด็กอายุ 10-14 ปี เพิ่งเริ่มเผชิญปัญหาซึ่งเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น แต่ระหว่างอายุ 15-19 ปีนั้นปัญหาที่ได้เริ่มต้นมาแล้วจะค่อยๆหยั่งรากลึกลงไปทุกที หากเด็กไม่อาจแก้ปัญหานั้นๆให้ลุล่วงไปได้ ดังนั้นในช่วงอายุตอนนี้จึงกลายเป็นโรคประสาทโรคจิต และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโรคจิต หรือจากจิตแพทย์ตามคลินิก นอกจากนี้ยังปรากฏว่าเด็กวัยรุ่นจำนวนมากมายแต่ไม่ปรากฏตัวเลขที่แน่นอนประสบความกลัดกลุ้มและทุกข์ใจจนต้องหาทางออกต่างๆ เช่น ฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย ประสาทหลอน กลาเป็นอาชญากรวัยรุ่น ประพฤติตนแบบลักเพศ หันเข้าหาสุรายาเมา และยาเสพติดประเภทต่างๆหรือจับกลุ่มตั้งแกงค์ และแยกตัวจากสังคมหันหลังให้ระเบียบและกฎเกณฑ์ของสังคมเสียสิ้นเชิง และในจำนวนเด็กวัยรุ่นที่เป็นเช่นนี้ จากการศึกษาได้พบว่ามีเด็ดที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดระดับธรรมดา และสูงเป็นพิเศษรวมอยู่ด้วยมากมาย แต่เนื่องไม่สามารถปรับตัวได้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันเป็นช่วงวิกฤตการณ์แห่งการปรับตัวที่สำคัญนี้ อีกทั้งอาจไม่ได้รับการแนะแนวทางการดูแลเอาใจใส่ และความเข้าใจอันดีจากบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องดีพอชีวิตจึงต้องประสบความล้มเหลวเช่นนี้
อนึ่งการที่เราถือว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยวิกฤติแห่งการปรับตัวก็ด้วยเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ วัยรุ่นเรียกได้ว่าเป็นโอกาสสุดท้ายหรือเกือบสุดท้ายของชีวิตสำหรับการแก้ไขปรับปรุงแบบพฤติกรรมการปรับตัวให้เข้ารูปเข้ารอย เพื่อเป็นรากฐานที่ดีและมั่นคงของบุคลิกภาพิการปรับตัวที่ดีในวัยรุ่นย่องยังผลให้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่มีความสุขและความสำเร็จ อันที่จริงการปรับตัวที่ดีควรจะต้องเริ่มพัฒนามาแต่วัยเยาว์ แต่กระนั้นดีแม้ว่าเด็กบางคนมิได้แชประสบความสำเร็จในการปรับตัวในวัยเยาว์ก็ตาม เด็กก็ยังมีโอกาสสำหรับการปรับปรุงแก้ไขลักษณะสำคัญๆทางบุคลิกภาพมักจะทำได้ยากเสียแล้ว เนื่องจากเหตุผลที่ว่า ปัญหายุ่งยากในการปรับตัวของคนวัยผู้ใหญ่มักจะหยั่งรากลึกจนเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ซึ่งผิดกับปัญหาของเด็กในวัยรุ่น ซึ่งยังพอมีการปรับปรุงแก้ไขได้ เข้าทำนองคำกล่าวที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” นี่เอง คนนอกจากนี้เราจะเห็นได้ว่าคนเราคนเราเมื่อล่วงเข้าวัยผู้ใหญ่แล้ว โอกาสที่จะได้รับการโอบอุ้มช่วยเหลือจากพ่อแม่ ครู อาจารย์ หรือหน่วยสงเคราะห์ในรูปต่างๆจากองค์การรัฐบาลหรือเอกชน ย่อมมีน้อยกว่าในวัยรุ่นอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะสังคมได้กำหนดไว้ว่าวัยผู้ใหญ่เป็นวัยที่คนเราเจริญเติบโตพอที่จะรับผิดชอบชีวิตตัวเองได้แล้วในทุกกรณี
สภาพการณ์ของชีวิตที่จำเป็นต้องมีการปรับตัว
มนุษย์ทุกคนมีความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างเดียวกัน ความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานนี้เกิดจากแรงผลักดันสองอย่างที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ แรงผลักดันภายนอกและแรงผลักดันภายใน ดังจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานอันเกิดจากแรงผลักดันทั้งสิ้น เช่น การพยายามปรับตัวให้เป็นไปตามสภาพแวดล้อม และความต้องการของสังคม รวมทั้งความต้องการที่เกิดขึ้นภายในใจของตนเองด้วย
อนึ่งในการตอบสนองความต้องการที่เกิดจกแรงผลักดันดังกล่าวนี้ มนุษย์ต้องเผชิญกับภาวะเคร่งเครียดกดดันต่างๆ เช่น ความหวั่นกลัวอันตราย ความรู้สึกข้องคับใจและความวิตกกังวลนานาประการ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความล้มเหลว หรือความรู้สึกขัดแย้งที่เกิดขึ้นในใจ ฉะนั้นในภาวะเคร่งเครียดกดดันมนุษย์จำเป็นต้องหาทางออกหรือวิธีแก้ปัญหาเพื่อขจัดหรือผ่อนคลายอารมณ์เคร่งเครียดลง การหาทางออกหรือวิธีแก้ปัญหาต่างๆรวมเรียกว่า กระบวนการปรับตัว
ในบทนี้จะได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องแรงผลักดันภายนอกและภายใน ความต้องการจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ลักษณะธรรมชาติของความเคร่งเครียดโดยทั่วๆ ไปรวมทั้งสิ่งสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเคร่งเครียด อาทิ ความข้องคับใจ ความหวั่นกลัวอันตราย ความรู้สึกขัดแย้งในใจและความวิตกกังวล ซึ่งสิ่งต่างๆทั้งหลายนี้ก่อให้เกิดสภาพการณ์ของชีวิตที่จำเป็นต้องมีการปรับตัว
แรงผลักดันที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต
ในการดำเนินชีวิตมนุษย์ทุกคนต้องเผชิญกับแรงผลักดันซึ่งมีอิทธิพลสำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่องการปรับตัว 2 อย่างคือ
1.แรงผลักดันภายนออก หรือข้อเรียกร้องอันเกิดจากสภาพแวดล้อม และสังคม
2.แรงผลักดันภายใน หรือแรงกระตุ้นอันเกดจากสภาพทางสรีระภายในร่างกายและจากประสบการณ์ทางสังคมที่ได้เรียนรู้ในอดีตที่ผ่านมา
หากมนุษย์สามารถดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามแรงผลักดันทั้งสองอย่างได้ ทุกอย่างย่อมราบรื่น แต่ในชีวิตจริงแรงผลักดันหรือข้อเรียกร้องต่างๆมักจะเกิดข้อขัดแย้งกัน เช่นใจตนเองปรารถนาจะทำสิ่งนี้ แต่สังคมไม่เห็นชอบด้วยเป็นต้น ดังนั้นมนุษย์จึงจำต้องมีการปรับตัวเมื่อเกิดความขัดแย้ง และความข้องคับใจขึ้น
1.แรงผลักดันภายนออก
ประการแรกได้แก่ความต้องการของร่างกายที่ต้องการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การดำเนินชีวิตของคนเราเป็นการปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการ หรือข้อเรียกร้องของร่างกาย เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยดีในสภาพแวดล้อม ดังจะเห็นได้ว่าเด็กเล็กๆ เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว และรู้จักปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงความป่วยไข้ ความเจ็บปวด หรือภัยอันตรายต่างๆ ทีละน้อยเรื่อยมา เมื่อเด็กยิ่งเติบโตขึ้นและรู้จักคิดกว้างขวางลึกซึ้งขึ้นก็จะพบว่าข้อเรียกร้องจากภายนอกที่เป็นแรงผลักดันของชีวิตยิ่งมีมากมาย ซึ่งรวมทั้งเหตุการณ์ที่จะเกิด แต่ยังมิได้เกิดในปัจจุบันด้วย ในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมนี้คนเราได้เรียนรู้ความผิดหวังไม่เฉพาะในเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น หากรวมถึงเรื่องร้ายแรงใหญ่ๆ ด้วย เช่น วกฤตการณ์ต่างๆ ที่สร้างความรู้สึกกดดันเคร่งเครียดแก่จิตใจ อาทิ น้ำท่วม ไฟไหม้ สงคราม แผ่นดอนไหว และโรคภัยที่ทำให้เกิดความพิการ หรือถึงแก่ความตายในที่สุดเป็นต้น
ประการที่สอง แรงผลักดันภายนอกเกิดจากข้อเรียกร้องของสังคมหรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์กัน นับตั้งแต่การที่เด็กเล็กๆ เริ่มปรับตัวตามข้อเรียกร้องของสังคมในเรื่องง่ายๆ เช่น การเรียนรู้วิธีรับประทานอาหารด้วยมือ ช้อนส้อม และมีด หรือตะเกียบเป็นต้น ผู้ใหญ่ในสังคมเช่น บิดามารดาจะเริ่มสั่งสอนให้เด็กทำสิ่งนี้ และห้ามทำสิ่งนั้นหรือให้คิดอย่างนี้และห้ามคิดอย่างนั้น สุดแล้วแต่แบบแผนของแต่ละสังคม เมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นก็จะยิ่งพบข้อเรียกร้องของสังคม ซึ่งยุ่งยากและวับซ้อนมากยิ่งขึ้นโดนเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ซึ่งมีระเบียบวัฒนธรรมที่เจริญก้าวหน้า เช่น การที่เด็กในสังคมสมัยใหม่จะต้องเข้าโรงเรียนเพื่อเรียนรู้การอ่าน การเขียนภาษา และประวัติความเป็นมาของสังคม อีกทั้งความรู้วิชาการและลักษณะค่านิยมที่สังคมนั้นยอมรับ ตลอดจนการเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในสังคม และบทบามหน้ามี่ต่างๆ ของคนในสังคมตามมาตรฐานที่สังคมกำหนดขึ้น
ข้อเรียกร้องของสังคมมีมาตรฐานต่างๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบแผนของระเบียบประเพณี และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว แบบแผนที่กำหนดให้เด็กเรียนรู้ยังอาจจะแตกต่างกันได้เช่นกัน เด็กอเมริกา เด็กไทย เด็กญี่ปุ่นเรียนรู้การทักทายด้วยการโค้งศีรษะซึ่งยิ่งโค้งต่ำเพียงไรยิ่งแสดงความสัมพันธ์ใกล้ชิดเพียงนั้น ส่วนเด็กไทยได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักขนบประเพณีการกราบไหว้ ในขณะที่เด็กทางตะวันตกเรียนรู้การสัมผัสมือเป็นต้น ระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมซึ่งกำหนดแบบแผนหรือ ข้อเรียกร้องให้คนในสังคมปฏิบัติตามนี้เป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลสมัยเรื่อยมา
ความล้มเหลวในการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสังคมย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ใจ หรือภาวะเคร่งเครียดกดดันในจิตใจได้มากน้อยต่างกันไปแล้วแต่จารีตประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละสังคมจะเป็นผู้กำหนด สังคมกำหนดโทษผู้กระทำผิดระเบียบประเพณีและมาตรฐานที่สังคมวางไว้หนักเบาต่างกันไปนับตั้งแต่การประหารชีวิต การจำคุก การปรับ การแสดงความรังเกียจ การดูหมิ่นเหยียดหยาม การเฆี่ยนตี หรือการตัดสิทธิและรางวัลที่ควรได้รับเป็นต้น โดยทั่วๆ ไปในสังคมทุกแห่ง ผู้ที่ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับความต้องการหรือมาตรฐานของสังคมมักจะได้รับผลตอบแทนที่มีคุณค่าและน่าชื่นชม เช่น การได้คะแนนสูง การได้เลื่อนชั้นหรือตำแหน่ง หรือการได้รับความยกย่องนับถือจากสังคม เท่าที่ปรากฏจะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนในวัยรุ่นปรารถนาจะได้รับความยกย่องนับถือจากสังคมมากกว่าอย่างอื่นเพราะสิ่งนี้ทำให้รู้สึกสบายใจและปลอดภัย กระนั้นก็ดีความปรารถนาที่จะได้รับความยกย่องจากสังคมมากเกินขอบเขตอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางความคิดริเริ่ม และความสามารถที่มีอยู่ในตัวได้เพราะต้องคอยระมัดระวังให้อยู่ในกรอบของสังคมตลอดเวลาจนไม่เป็นตัวเอง ไม่กล้าริเริ่มอะไรใหม่ๆ หรือยิ่งดิ้นรนทะเยอทะยานเกินกว่าเหตุจนจิตใจต้องตกอยู่ในภาวะเคร่งเครียดและความทุกข์ใจตลอดจนจากเหตุนี้ก็ได้
ปัญหาเกี่ยวกับอิทธิพลของสังคมและระเบียบวัฒนธรรมที่มีต่อการปรับตัวนี้เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจะได้อธิบายในบทที่ 6
2.แรงผลักดันภายใน ได้แก่แรงกระตุ้นภายในตัวบุคคล ซึ่งเกิดจากสภาพทางสรีระของบุคคลนั้นประการหนึ่ง และจากประสบการณ์ทางสังคมที่บุคคลนั้นได้เรียนรู้ในอดีตอีกประการหนึ่ง
ประการแรก หมายถึงแรงกระตุ้นจากภายในของแต่ละคนซึ่งเกิดจากสภาพทางสรีระของบุคคลนั้น ได้แก่ ความต้องการสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร อากาศ น้ำ ความอบอุ่น และการพักผ่อนหลับนอนที่พอเพียง ถ้าเราไม่กินอาหารเราก็จะรู้สึกไม่สบายและผลที่สุดก็จะถึงแก่ความตายหากการอดอาหารเป็นไปนานเกินควร หรือถ้าเราอดน้ำอวัยวะต่างๆภายในร่างกายก็จะขาดน้ำสำหรับหล่อเลี้ยง และเราก็อาจรู้สึกกระหายน้ำและอาจจะตายได้ในเวลาต่อมาเช่นกัน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นักสรีระวิทยาชื่อ Ancel Keys (1950) และนักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้ทำการศึกษาปฏิกิริยาของคนที่อยู่ในสภาพอดอยากโดยให้อาหารกินเพียงหนึ่งในสามส่วนที่เคยได้รับตามปกติเป็นเวลาหลายเดือน ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นยังคงต้องทำงานหนักเท่าเดิม ผลปรากฏว่า บุคลิกภาพและพฤติกรรมทางสังคมของคนกลุ่มนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เช่นกลายเป็นคนโกรธง่ายและชอบวิวาทและคิดหมกมุ่นไร้สาระเรื่องการเปลี่ยนอาชีพมาเป็นพ่อครัวหรือเจ้าของภัตตาคาร และหันเหความสนใจจากภาพนางแบบสาวที่ยั่วยวนในนิตยสารมาสู่ภาพอาหาร เช่น สลัดเนื้อสันเป็นต้น
เมื่อไม่นานมานี้ นักจิตวิทยาได้ขยายขอบเขตของความต้องการภายในเนื่องจากสภาพทางสรีระซึ่งแต่เดิมถือว่าการขาดแคลนอาหารการกินเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญของความต้องการทางด้านนี้โดยได้ระบุถึงสิ่งใหม่ที่เรียกว่า “แรงขับ” (Drives) ซึ่งมิได้มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือการรักษาดุลทางสรีระเข้าไว้ในความต้องการข้อนี้ด้วย อาทิเช่นแรงขับในด้านความอยากรู้อยากเห็นที่ก่อให้เกิดการสำรวจค้นคว้าเป็นต้น
แรงกระตุ้นภายในประการที่สองเป็นผลของประสบการณ์ทางสังคมที่บุคคลได้เรียนรู้ในชีวิตที่ผ่านมา ฉะนั้นจึงเรียกได้อีกนัยหนึ่งว่า “เหตุจูงใจทางสังคม” (Social Motives) ได้แก่ความต้องการที่จะหาเพื่อนฝูง ความต้องการความรัก ความต้องการความสำเร็จ และการเป็นที่ยกย่องนับถือ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในวัยรุ่น การที่เราเติบโตในสังคมที่แตกต่างกัน และได้รับประสบการณ์ทางสังคมที่ต่างกัน ย่อมทำให้แต่ละคนเกิดความต้องการภายใน หรือเหตุจูงใจทางสังคมที่ไม่เหมือนกัน
แรงกระตุ้นภายในทั้งสองประการดังกล่าวนี้ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันในการทำให้คนเราเกิดความสุข หรือความทุกข์ ตลอดจนในการกำหนดพฤติกรรมการปรับตัวของคนเราด้วย
บทบาทของแรงผลักดันในการปรับตัว
พฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์เป็นไปเพื่อตอบสนองแรงกระตุ้นของความต้องการต่างๆ ซึ่งเกิดจากแรงผลักดันดังอธิบายมาแล้ว ความต้องกการเหล่านี้เป็นข้อเรียกร้องให้มนุษย์ต้องมีปฏิกิริยาตอบสนอง ข้อเรียกร้องบางอันมีแรงผลักดันมาก แต่บางอันมีน้อยต่างกันไปสำหรับแต่ละคน เช่น สำหรับคนบางคนความต้องการที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้มีแรงผลักดันมากกว่าแรงจูงใจในสังคม เช่น ความต้องการเป็นที่ยกย่องนับถือ ฉะนั้นเขาจะทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการข้อแรกเพื่อให้ชีวิตมีความสุขสมปรารถนา เช่น เขาอาจจะแยกตัวออกจากพรรคพวกเพื่อนฝูง และกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองโดยไม่สนใจว่าสังคมจะยอมรับการกระทำของเขาหรือไม่ หรือใครจะรังเกียจเขาอย่างไรเขาก็จะไม่แยแสและสนใจเลย แต่สำหรับบางคนตรงกันข้าม ถือว่าการได้รับความยกย่องนับถือและยอมรับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าชีวิตจิตใจ ฉะนั้นเราจะพบอยู่บ่อยๆ ว่าเด็กวัยรุ่นบางคนเมื่อสอบไล่ตก หรือบางรายเพียงถูกครูดุว่าและติเตียนต่อหน้าเพื่อนฝูงในชั้นถึงกับฆ่าตัวตายด้วยความเสียใจและอับอาย และเกรงว่าเพื่อนฝูงจะหัวเราะเยาะ เพราะตัวเองถือเรื่องความสำเร็จเป็นเรื่องสำคัญและยิ่งใหญ่ในชีวิตและถือเรื่องความล้มเหลวเป็นเรื่องร้ายแรงและน่ากลัวที่สุด นอกจากนี้บางคนมีความต้องการที่จะแสดงตนในเรื่องต่างๆ เช่น เศรษฐีกับคนขี้ตระหนี่มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะแสวงหาและเก็บรักษาข้าวของเงินทองให้มากที่สุดที่จะมากได้ แม่ชีและนักบวชมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะยึดมั่นในอำนาจบางอย่างนอกตัวที่นำไปสู่ความดีงาม เป็นต้น
ชีวิตมนุษย์มีข้อเรียกร้องที่ต้องเผชิญมากมาย ความต้องการหรือข้อเรียกร้องบางอย่างก็สอดคล้องกันเป็นอย่างดี แต่บ่อยครั้งทีเดียวที่ข้อเรียกร้องหลายๆ อย่างเกิดขึ้นพร้อมกันและขัดแย้งกันเอง ทำให้เราไม่สามารถสนองความต้องการให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องเหล่านั้นได้พร้อมๆ กันตัวอย่าง เช่น ทหารที่อยู่ในสนามรบ มีความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่รอดจากภัยอันตรายเฉพาะหน้าเพราะห่วงครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการที่จะรักษาเกียรติยศชื่อเสียงในการปฏิบัติหน้าที่ให้สมเป็นชายชาติทหารโดยต้องต่อสู้กับข้าศึกด้วยการเสี่ยงชีวิต ในกรณีเช่นนี้เรียกว่าความรู้สึกขัดแย้งได้เกิดขึ้นแล้ว และการที่เขาจะเลือกสนองความต้องการข้อใดย่อมขึ้นอยู่กับว่าข้อเรียกร้องข้อใดมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าสำหรับตัวเขา
การที่ข้อเรียกร้องภายนอกและแรงกระตุ้นภายในมีอิทธิพลผลักดันให้คนเรามากน้อยต่างกันไปนี้เป็นสิ่งกำหนดลักษณะ และความรุนแรงของการแสดงออกในกระบวนการปรับตัวของแต่ละคนมากน้อยต่างกันไปด้วย
กระบวนการหรือกลวิธีต่างๆในการปรับตัวซึ่งเป็นผลผลักดันจากข้อเรียกร้องภายนอก หรือภายในนี้อาจเรียกได้ว่า ความพยายามในการแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนเราต้องการอาหารก็จะหาให้ได้มาซึ่งอาหารด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งตามที่เขาเคยมีประสบการณ์ ในบางครอบครัวบิดามารดาเรียกร้องบุตรให้ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร บุตรก็จะปฏิบัติตาม เมื่อคนเราอยากจะประสบความสำเร็จในการศึกษาเขาก็จะพยายามศึกษาเล่าเรียน หรือ รู้จักจัดเวลาเรียนและเวลาเล่นให้เป็นสัดส่วนกัน บ้านไหนหลังคาเกิดรั่วเจ้าของบ้านก็จะเรียกช่างมาซ่อม หรือซ่อมเอง ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการปรับตัวหมายถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่คนเรากระทำเพื่อตอบสนองความต้องการทางสรีระ แรงขับ หรือแรงจูงใจต่างๆ หรือที่รวมเรียกว่า ข้อเรียกร้องภายนอกและภายในนี่เอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะคิดว่าการปรับตัวหมายถึงเพียงการแก้ปัญหาอย่างเดียวเท่านั้น หัวข้อการปรับตัวก็คงจะไม่ใช่เรื่องหลักสำคัญที่นักจิตวิทยา นักการศึกษา และจิตแพทย์ จะต้องพากันทุ่มเทความสนใจให้มากมายดังที่เป็นอยู่ และการปรับตัวก็จะเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการแก้ปัญหาด้วยสติปัญญาเท่านั้น โดยมิได้เรื่องอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ย่อมผิดจากสภาพชีวิตจริงๆ ซึ่งมีปัญหาอื่นที่สำคัญๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีกมากมายหลายอย่างในการปรับตัว เช่น เรื่องอารมณ์ ความทุกข์ทรมานขงมนุษย์พฤติกรรมที่น่าสะเทือนใจเช่น การฆ่าตัวตาย อาชญากรรม ความผิดหวังและล้มเหลวในการงาน การหย่าร้าง ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น ฉะนั้นเราจะพิจารณาเฉพาะเรื่องข้อเรียกร้อง หรือแรงผลักดันภายนอกและภายในแต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ แต่จะต้องพิจารณาสถานการณ์บางอย่างในชีวิต ซึ่งยุ่งยากและไม่สามารถจะใช้วิธีการแก้ปัญหาตามวิธีปกติธรรมดาได้ สถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในชีวิตคนเรา ซึ่งสรุปได้ว่าเป็นภาวะเคร่งเครียดใจซึ่งเราควรศึกษาให้เข้าใจ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพ
ในบทที่ 3 ได้อธิบายพอสังเขปแล้วว่า ในปัจจุบันนักการศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพได้ยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วไปว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญในการกำหนดบุคลิกภาพโดยหลักใหญ่ๆ แล้วมี 3 ประการ คือ อิทธิพลของสภาวะพื้นฐานทางกายในเชิงชีววิทยา อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม และอิทธิพลของสภาวะความเป็น “ตน” (Self) ของแต่ละบุคคลซึ่งประการสุดท้ายนี้เป็นแนวคิดล่าสุดของนักทฤษฎีบุคลิกภาพ ในปัจจัยหลัก 3 ประการนี้ยังประกอบไปด้วยปัจจัยย่อยอีกหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพ อาทิ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ลักษณะวิธีอบรมเลี้ยงดู แบบแผนของวัฒนธรรม อิทธิพลของเพื่อนฝูง ครู โรงเรียน และอุดมคติ ดังได้บรรยายโดยรายละเอียดในบทนี้
ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพ
ปัจจัยหลัก 3 ประการต่อไปนี้มีอิทธิพลร่วมกันในการกำหนดแนวทางพฤติกรรมการปรับตัวซึ่งเป็นรากฐานของบุคลิกภาพ อิทธิพลทั้งสามนี้ไม่สามารถแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดได้ แต่จะเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันและกันตลอดไปในชีวิตของคนเรา
1.อิทธิพลของสภาวะพื้นฐานทางกายเชิงชีววิทยา อันได้แก่ลักษณะพื้นฐานในการตอบโต้ และศักยภาพทางพันธุกรรมของบุคคล
2.อิทธิพลของสภาวะแวดล้อม อันได้แก่สภาวะทุกอย่างที่แวดล้อมบุคคล
3.อิทธิพลของสภาวะความเป็น “ตน” อันได้แก่การรับรู้ และความเข้าใจที่บุคคลไดรับจากประสบการณ์ทุกอย่างในชีวิตซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

1.อิทธิพลของสภาวะพื้นฐานทางกายเชิงชีววิทยา
บุคลิกภาพของคนเราบางด้านได้รับอิทธิพลจากพื้นฐานทางกายในเชิงชีววิทยา โดยทั่วๆ ไปแล้วเราจะพบว่านักจิตวิทยามักจะเน้นหนักในเรื่องผลของขบวนการเรียนรู้ และอิทธิพลของสภาวะแวดล้อมที่มีต่อการพัฒนาบุคลิกภาพและการปรับตัว ซึ่งโดยหลักความจริงแล้ว เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้เราจะต้องไม่ลืมว่ายังมีปัจจัยอื่นเริ่มแรกที่นับว่าสำคัญและมีอิทธิพลในการวางรูปและการปรับตัวให้แก่คนเรา เมื่อเริ่มก่อกำเนิดทุกคนเป็นเพียงอินทรีย์ที่มีชีวิตอย่างหนึ่งในเชิงชีววิทยา ฉะนั้นความสามารถในการแสดงพฤติกรรมการปรับตัวส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยแรกเริ่มทางด้านสภาวะพื้นฐานทางชีววิทยา อันได้แก่โครงสร้างทางกายวิภาค และการทำหน้าที่ทางสรีระภายในกายของแต่ละบุคคล เช่นการทำงานของระบบประสาท ระบบต่อมต่างๆ รูปทรง หน้าตา กระบวนการและอัตราการเจริญเติบโต อิทธิพลของพันธุกรรมอันมียีนเป็นตัวนำลักษณะต่างๆ ของบรรพบุรุษถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันเรื่อยมา ตลอดจนความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยกำเนิดในด้านต่างๆ อาทิ แรงขับ ศักยภาพ หรือพลังความสามารถในการเรียนรู้ อารมณ์ ความแข็งแรง ความคล่องแคล่วว่องไว และความเร็วช้าของการเคลื่อนไหนเป็นต้น
อิทธิพลของสภาวะด้านสรีระที่มีต่อบุคลิกภาพของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่พอจะสังเกตเห็นได้ เช่น เวลาเรารู้สึกเหนื่อยล้า เจ็บปวด หรือไม่สบาย ด้วยเหตุใดก็ตามย่อมมีผลทำให้การปรับตัวแบบที่เคยเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปได้ คนมีข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนทางร่างกายจะเผชิญปัญหาในชีวิตแตกต่างจากผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ และแข็งแรง
อิทธิพลของสภาวะทางกายต่อบุคลิกภาพนี้พอจะแบ่งได้ 2 อย่าง คือ
1.อิทธิพลโดยตรง
2.อิทธิพลทางอ้อม
1.อิทธิพลโดยตรง ได้แก่ อิทธิพลของพันธุกรรมซึ่งมียีนเป็นตัวกำหนดลักษณะโครงสร้างทางกาย อิทธิพลของการทำงานของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งมีผลทำให้ความสามารถในการคิด การรับรู้ การจดจำ การวิเคราะห์ และการวางแผนต้องเสื่อมถอย หรือบกพร่องก็มีอิทธิพลในการทำให้ความสามารถในการปรับตัวหย่อนยานไปด้วย เช่น โรคจิตบางประเภทซึ่งกระทบกระเทือนบุคลิกภาพอย่างร้ายแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ถ้าอาการร้ายแรงอาจทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงตลอดไป และไม่มีทางแก้ไขได้
2.อิทธิพลทางอ้อม หมายถึงสภาวะทางกายมิได้มีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมแต่มีผลต่อสังคมของคนเรา และผลทางสังคมนี้ทำให้พฤติกรรมการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปได้กล่าวคือ การปรับตัวของคนเราอาจเป็นไปตามเจตคติ หรือความรู้สึกและความเข้าใจที่คนเรามีต่อหน้าตา รูปทรง หรือความบกพร่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในเรื่องหน้าตา และรูปทรง เด็กที่แข็งแรงและหน้าตาดีมักจะเป็นที่เอ็นดูและชื่นชมของพ่อแม่และเพื่อนฝูง ซึ่งตรงกันข้ามกับเด็กที่รูปร่างหน้าตาไม่หน้าดู หรือบกพร่องพิการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออ่อนแอขี้โรคซึ่งมักจะปรับตัวแตกต่างจากเด็กที่แข็งแรงและมีพลานามัยบูรณ์เพราะต่างได้รับประสบการณ์ต่างกัน เด็กที่รูปร่างหน้าตาดีมักได้รับประสบการณ์ทางสังคมที่ดี เช่นได้รับการยกย่อง ชมเชยจากผู้คนทั่วไปซึ่งมีผลทำให้มีลักษณะการสังคมดี เข้าสังคมได้ ไม่เคอะเขิน ไม่เก็บเนื้อเก็บตัว หรือหงอยเหงา ตรงกันข้ามกับเด็กที่ขี้โรคผอมบางจะค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เพียงแต่จะอ่อนแอและสู้คนอื่นไม่ได้ในด้านร่างกายเท่านั้นหากยังเกิดความรู้สึกด้วยว่ารูปร่างของตนไม่มีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้อื่นอีกด้วย ฉะนั้นจึงนับว่าสภาวะทางกายแม้จะไม่มีผลโดยตรงต่อการปรับตัวแต่มีอิทธิพลทางอ้อมซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตคนเราไม่น้อย
2.อิทธิพลของสภาวะแวดล้อม
ปัจจัยที่สำคัญประการที่สองที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพได้แก่สิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ด้านใหญ่ๆ เพื่อความสะดวกในการศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่อบุคลิกภาพ การแบ่งต่อไปนี้เป็นการแบ่งตามทฤษฎีเท่านั้น แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วแต่ละด้านมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก
1.สภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ หรือ ทางกายภาพ
2.สภาวะแวดล้อมทางวัฒนธรรม
3.สภาวะแวดล้อมทางสังคม
1.สภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ หรือ ทางกายภาพ
แม้มนุษย์ทุกคนมีความต้องการที่จำเป็นและแรงขับพื้นฐานจากภายในที่คล้ายคลึงร่วมกันอยู่ก็ตาม แต่ละคนต่างก็เผชิญสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน อันมีผลให้แต่ละคนแสดงออกแตกต่างกันในการปรับตัวเพื่อสนองความต้องการหรือแรงขับภายใน ดูตัวอย่างง่ายๆ เช่นชาว Bedouen ในแถบทะเลทราย และชาว Eskimo ในแถบอาร์คติค ต่างก็เป็นผลิตผลสืบเนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางกายภาพที่แตกต่างกัน พัฒนาการทางด้านร่างกายตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมทางกายภาพที่ต่างกันทั้งสิ้นเช่น ลักษณะของดินฟ้าอากาศทำให้คนผิวดำ หรือขาว ร่างใหญ่ หรือร่างเล็ก เป็นต้นความต้องการแสวงหาอาหารและที่อยู่อาศัยทำให้คนบางพวกร่อยเร่พเนจรไปในบางแห่งของโลก บางเผ่าก็ล่าสัตว์ หรือหาปลา เป็นต้น
2.สภาวะแวดล้อมทางวัฒนธรรม
นอกเหนือจากสภาวะแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติจริงๆ แล้วจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของกลุ่ม ซึ่งคนเป็นผู้สร้างและปรับปรุงจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติก็มีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพมากเช่นกัน
วัฒนธรรมหมายถึงระเบียบแบบแผนของพฤติกรรมที่ได้เรียนรู้เป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันเรื่อยมาในคนแต่ละคนแต่ละเหล่า
เสฐียรโกเศศ” ได้อธิบายความหมายของวัฒนธรรมตามแนววิชามานุษยวิทยาโดยแยกแยะให้เห็นเป็น 4 ด้านดังนี้
1.พฤติกรรมทางสังคม ไดแก่กิริยาอาการและท่าทีที่มนุษย์ในสังคมแสดงออกเป็นนิสัยความเคยชิน เมื่อจะทำอะไร ประพฤติอย่างไร ก็มีกิริยาอาการแสดงออกเป็นอย่างเดียวกันในสังคม และรวมทั้งรู้จักใช้สิ่งซึ่งสร้างหรือทำขึ้นได้ด้วย
2.วาจาและท่าทางเมื่อพูด
3.กิจกรรม คือความไม่อยู่นิ่งในอันที่จะประกอบการงาน การเล่น หรือการกระทำใดๆ
4.ผลเกิดจากกิจกรรม อันเป็นผลิตกรรมของมนุษย์ เช่นบ้านเรือน เรือนสวน ไร่นาเครื่องใช้ ไม้สอยและอื่นๆ
3.สภาวะแวดล้อมทางสังคม
สังคมหมายถึงกลุ่มคนที่รวมตัวกันเป็นพวกเป็นเหล่า อยู่ด้วยกันที่ใดที่หนึ่ง แต่ในแต่ละกลุ่มหรือสังคม จะมีเจตคติตลอดจนแบบแผนของพฤติกรรมและจุดมุ่งหมายที่เป็นลักษณะเฉพาะประจำกลุ่มของตน
เรื่องกลุ่มสังคมนี้มีความสำคัญในการพัฒนาบุคลิกภาพของแต่ละคนมาก ดังที่นักการศึกษาชื่อ Akerman (1951) ได้สรุปข้อคิดเห็นไว้ดังนี้
สังคมเป็นเบ้าหล่อหลอมบุคลิกลักษณะของแต่ละคนขึ้นที่ละน้อย แต่สังคมจะช่วยกำหนดโครงสร้างของคุณลักษณะต่างๆ ที่จะประกอบกันขึ้นเป็นบุคลิกภาพ เมื่อคนเราเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะประกอบไปด้วยคุณลักษณะซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของตนเอง และลักษณะซึ่งเป็นแบบของสังคมนั้นๆซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะกลายเป็นลักษณะนิสัยประจำตัวที่ถาวรอยู่ตัว และเปลี่ยนแปลงได้ยากขึ้นทุกที ตัวอย่างเช่น เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในสถานเลี้ยงเด็กมักจะเจริญช้าทางด้านสติปัญญา และมีความบกพร่องทางด้านพัฒนาการทางภาษา รวมทั้งมีปัญหาในการปรับปรุงตัวเกี่ยวกับบุคลิกภาพด้วย ข้อสรุปที่ตรงกันของบรรดานักการศึกษาเด็กก็คือ การถูกพรากจากมารดาที่ให้ความรักและการโอบอุ้มเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดในวัยเยาว์มีผลกระทบกระเทือนต่อเด็กตลอดไปในแง่ที่สร้างปัญหาในการปรับตัวทางด้านอารมณ์และสังคมในภายหน้า
3.อิทธิพลของสภาวะความเป็น “ตน” (Self)
ในการศึกษาเรื่องการพัฒนาบุคลิกภาพ นอกจากจะได้พิจารณาเรื่องพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมแล้ว จำเป็นที่ต้องพิจารณาศึกษา “ตน” หรือสภาวะอันประกอบขึ้นเป็น “ตน”ด้วย เพราะสิ่งนี้เปรียบได้กับหัวใจหรือแกนกลางของบุคลิกภาพตามแนวคิดล่าสุดของนักทฤษฎีบุคลิกภาพกลุ่มหนึ่ง
ตน” (Self) ประกอบขึ้นด้วยความรู้สึกและความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งได้แก่แบบแผนของชีวิตของตนเองซึ่งเป็นแบบเฉพาะตัว ทั้งนี้หมายความครอบคลุมถึงความสามารถ ลักษณะนิสัย ความสนใจ ค่านิยมแห่งชีวิต ตลออดจนความรู้สึกเข้าใจ หรือความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสภาแห่งตน
ในเรื่องพัฒนาความเป็น “ตน” นี้ Maslow ผู้เชื่อในระบบ “ตน” ว่าเป็นแกนกลางประดุจหัวใจของบุคลิกภาพ ได้อธิบายว่า มนุษย์เรามีความต้องการเป็นลำดับขั้น 6 อย่าง ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด แต่ละขั้นจะเป็นฐานรองรับให้ก้าวขึ้นสู่ขั้นต่อไปได้ เริ่มตั้งแต่ความต้องการทางสรีระ ความต้องการความปลอดภัย ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะความต้องการความรัก ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง จนถึงความต้องการที่จะเข้าใจตนและโลกอย่างถ่องแท้ (Self -Actualization) ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่สูงสุดของชีวิต
เขาได้ทำการศึกษาบุคคลต่างๆ จำนวน 40 คนซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นผู้มีลักษณะสมบูรณ์ถึงขั้นที่สามารถเข้าใจตนเองและโลกอย่างถ่องแท้ และเขาได้สรุปคุณลักษณะสำคัญต่างๆ ของบุคคลที่เขาเรียกว่า Self-Actualizedc People ไว้ดังนี้
1.เข้าใจสภาพความจริงโดยถ่องแท้
2.ยอมรับตนเองและผู้อื่น
3.มีความเป็นธรรมชาติ ปราศจากการเสแสร้ง
4.วิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาตรงจุดไม่เข้าข้างตนเอง
5.สามารถอยู่ได้โดยลำพังตัวเองอย่างมีความสุข
6.มีความเป็นตัวเองเต็มที่ และมีอิสระ เสรีในตัวเอง
7.มองโลกและผู้อื่นรอบข้างในแง่ดีงามและสดชื่นอยู่เสมอ
8.มีความรู้สึกล้ำลึกบางอย่างภายในใจเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
9.สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
10.รู้จักเลือกเพื่อนและอุทิศตนให้เพื่อน
11.ยึดถือค่านิยมแห่งความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
12.ยึดมั่นในหลักศีลธรรมจรรยาอย่างมั่นคงในการกระทำทุกอย่าง
13.เป็นผู้มีอารมณ์ขันอย่างมีสติและความคิด
14.มีความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้แก่ชีวิต
15.พร้อมที่จะเผชิญประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต
ปัจจัยย่อยที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพ
ในบรรดาปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพ 3 ประการดังกล่าวได้มีผู้ค้นพบปัจจัยย่อยมากมายหลายอย่างซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการกำหนดพฤติกรรมการปรับตัวในวัยเด็กและการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพในวัยรุ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวัยวิกฤติแห่งการปรับตัว ตลอดจนการสร้างแบบแผนบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่
ปัจจัยย่อยที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวและบุคลิกภาพที่กล่าวถึงต่อไปนี้ บางอย่างก็มีความสำคัญในวัยเด็กและต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น บางอย่างก็ไม่มีบทบาทสำคัญอะไรเลยในระหว่างวัยเด็กและเพิ่งจะปรากฏความสำคัญเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ส่วนบางอย่างก็ตรงกันข้ามคือ มีอิทธิพลอย่างมากในวัยเด็กและลดความสำคัญลงเมื่อถึงวัยรุ่น
1.อิทธิพลของสภาวะทางกาย
2.อิทธิพลของสังคม
1.อิทธิพลของสภาวะทางกาย
1.1อิทธิพลของสภาวะเคมีภายในร่างกายหรือการทำงานของต่อมไร้ท่อ
อิทธิพลข้อนี้นับว่าเป็นอิทธิพลโดยตรงของสรีระ และกายวิภาคที่มีต่อพฤติกรรมการปรับตัวและบุคลิกภาพ ต่อมไร้ท่อจะทำงานโดยผลิตฮอร์โมนซึ่งก่อให้เกิดสภาวะเคมีขึ้นภายในร่างกาย และมีผลให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโต ในปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อมีอิทธิพลไม่น้อยต่อพฤติกรรมของบุคคลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังจะเห็นได้จากการทำหน้าที่ของต่อมสำคัญๆ บางอันดังตัวอย่างต่อไปนี้
1.ต่อมพิทูอิทารี(Pituitary Glands)
ต่อมนี้ตั้งอยู่ที่ฐานของสมอง ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนซึ่งสร้างความเจริญเติบโตแก่ร่างกายถ้าต่อมนี้ทำงานผิดปกติ เช่น ผลิตฮอร์โมนน้อยเกินไปจะทำให้ร่างกายเตี้ยแคระแกรนเด็กไม่เจริญเติบโต จิตใจไม่ปกติ ความรู้สึกทางเพศไม่เจริญตามวุฒิภาวะ ในทางตรงกันข้ามถ้าผลิตฮอร์โมนมากเกินขนาด ก็จะทำให้ร่างกานเติบโตแบบยักษ์ใหญ่ ต่อมนี้มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของโครงกระดูก และความเจริญเติบโตของร่างกาย ตลอดจนควบคุมการเจริญเติบโตของรังไข่ และอัณฑะ รวมทั้งระบบเผาผลาญของธาตุคาร์โบไฮเดรตภายในร่างกาย
2.ต่อมไทรอยด์(Thyroid Gland)
ต่อมนี้อยู่บริเวณลูกกระเดือก ทำหน้าที่กำหนดความเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ความเจริญทางสติปัญญา และภาวะสุดถึงขีดทางด้านเพศ ต่อมนี้ถ้าทำงานน้อยผิดปกติจะมีผลทำให้อวัยวะเพศไม่เจริญเติบโต ความคิดอ่านช้า ปัญญาทึบ พูดช้า เคลื่อนไหวช้า ผิวหนังแห้ง และผมร่วง ถ้าต่อมนี้ผลิตมากเกินไปจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายคือ ชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อออกมากผิดปกติ ตาถลน ระบบเผาผลาญเกินกว่าปกติ หิวบ่อย แต่น้ำหนักลด คนประเภทนี้มีลักษณะอาการทางประสาทเคร่งเครียดอยู่ไม่สุข โกรธง่าย ตื่นเต้นง่าย และพร้อมที่จะโวยวายแม้ในเรื่องเล็กน้อย
3.ต่อมอะดรีนาล (Adrenal Gland)
ต่อมนี้ตั้งอยู่เหนือไตทั้งสองข้าง ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนหลายชนิดที่สำคัญคือ Adrenaline และ Cortin Adrenaline จะถูกผลิตออกมาในยามที่อารมณ์เครียดเกิดขึ้น เช่นกลัวหรือหนีอันตราย หรือตกใจ สิ่งนี้กระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิตเร็วขึ้น จำนวนน้ำตาลในเม็ดเลือดเพิ่มขึ้นและความเข้มข้นของเลือดจะมากขึ้นในยามเครียดและฉุกเฉิน เป็นผลทำให้คนเราแสดงอาการทางกายออกมา เช่น หัวใจเต้นแรง มือสั่น หน้าตาแดงกล่ำ ส่วนฮอร์โมนที่เรียกว่า Cortin มีความสำคัญในการรักษาระดับความดันของโลหิตให้ปกติ ถ้าขาดฮอร์โมนชนิดนี้อย่างแรงผลคือ ความดันโลหิตจะต่ำผิดปกติจนถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำ จะมีอาการเหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนเพลียและใจคอหดหู่อยู่เสมอ
4. ต่อมโกแนด (Gonad Gland)
ต่อมนี้อยู่ที่ร่างกายของเพศหญิง และอยู่ที่อัณฑะของเพศชาย ต่อมนี้แม้ว่าจะเป็นตัวประกอบเพียงส่วนเดียวของระบบเพศ แค่ก็สำคัญมากในด้านการแสดงลักษณะเพศชายและหญิง ถ้าต่อมของเพศหญิงทำหน้าที่ผิดปกติไป อาจมีผลให้เกิดลักษณะความเป็นชายบางอย่างเกิดขึ้นแก่หญิงหรือถ้ามีการฉีดฮอร์โมนเพสหญิงเข้าไปในชาย ก็จะมีผลให้ผู้ชายมีลักษณะประกอบเพศบางอย่างที่แสดงความเป็นผู้หญิงออกมา ต่อม Gonad ในเพศชายทำหน้าที่ควบคุมการเปลี่ยน แปลงของเสียง การงอกของหนวด ขนรักแร้และขนหน้าอก ซึ่งถ้าต่อมนี้ทำหน้าที่ผิดปกติย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผิดปกติไปด้วย ส่วนต่อม Gonad ในเพศหญิงควบคุมร่างกายให้มีลักษณะความเป็นเพศหญิงโดยสมบูรณ์หน้าที่ของต่อมนี้นับว่าสำคัญมากในแง่บุคลิกภาพ เพราะเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ความเป็นชายหรือหญิงในสังคม
1.2อิทธิพลของรูปทางกาย

อิทธิพลข้อนี้นับว่าเป็นอิทธิพลทางอ้อมของสรีระ และกายวิภาคที่ทีต่อพฤติกรรมการปรับตัวและบุคลิกภาพของคนเรา เช่น ต่อม pituitary มีส่วนกำหนดขนาดของร่างกายให้มรชีขนาดปกติ แคระแกรน หรือใหญ่โตมโหฬารได้ ซึ่งเรื่องขนาดของร่างกายนี้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็กมาก ถ้าร่างกายยิ่งมีขนาดผิดธรรมดาเท่าไรก็จะยิ่งมีผลร้ายต่อการพัฒนาบุคลิกภาพมากเพียงนั้น
การศึกษาหลายอันได้เน้นความสำคัญของรูปทรง และลักษณะทางกายที่มีต่อการปรับตัวทางบุคลิกภาพ ซึ่งพอสรุปได้ดังต่อไปนี้
1.ลักษณะส่วนใหญ่ที่คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบ
1.ส่วนสูงตามระดับมาตรฐานของแต่ละเพศ หรือสูงกว่ามาตรฐานเล็กน้อย
2.น้ำหนักตัวตามระดับมาตรฐานของแต่ละเพศและได้สัดส่วนกับความสูง
3.หน้าตาผิวพรรณสวยงามตามธรรมชาติและบ่งถึงความมีสุขภาพดี
4.สุขภาพยิ่งแข็งแรงสมบูรณ์ยิ่งได้เปรียบ
5.อาการเคลื่อนไหวในลักษณะคล่องแคล่วและมั่นคง
6.ความแข็งแรงยิ่งมากเท่าไรยิ่งดีสำหรับเพศชาย
7.การแต่งกายที่เหมาะสมกับรูปร่าง ดินฟ้าอากาศและถูกกาลเทศะ
2.ลักษณะทางกายที่เป็นอุปสรรคของบุคลิกภาพที่ดี
1.สูงหรือเตี้ยเกินไป
2.อ้วนหริผอมเกินไป
3.หน้าตาผิวพรรณคล้ำ หรือซีดเซียว
4.สุขภาพไม่สมบูรณ์
5.ท่าทางเงอะงะงุ่มง่ามทั้งการเดิน การยืน หรือการนั่ง
6.อาการเคลื่อนไหนในลักษณะกระตุก หรืออาการอื่นๆ ทางประสาท
7.ความอ่อนแอ รับประทานอาหารได้น้อย เหนื่อยง่าย การฟังไม่ชัดเจน
8.สายตาและฟันไม่ดี
9.การแต่งกายไม่เหมาะสมกับรูปร่าง หรือไม่ถูกกาลเทศะ
3.ลักษณะทางกายที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจ
คนเราโดยปกติจะมีปฏิกิริยาตอบโต้กันในด้านรูปร่าง เช่น ความสวยงาม หรือความน่าเกลียด จากการศึกษาวิจัยได้พบว่า สภาวะทางกายเหล่านี้คือ ส่วนสำคัญของลักษณะทางกายที่ดึงดูดใจคน ซึ่งได้แก่ขนาดของร่างกายและสัดส่วนของอวัยวะต่างๆของร่างกาย รวมทั้งปริมาณไขมันและจำนวนเส้นผมที่พอเหมาะพอดีตามมาตรฐาน ส่วนลักษณะที่ไม่ดึงดูดใจคนได้แก่ สภาวะทางกายภาคในด้านเกี่ยวกับสัดส่วนของร่างกาย และสัดส่วนของอวัยวะต่างๆ เช่น ขา เท้า สะโพก ที่มีลักษณะผิดส่วนสำหรับเพศหญิงและส่วนแขนกับเท้าที่มีลักษณะผิดส่วนสำหรับเพศชาย นอกจากนี้สีสันของผิวพรรณโดยเฉพาะริมฝีปากก็มีความสำคัญในเรื่องนี้มากเช่นกัน สำหรับเด็กวัยรุ่นชายลักษณะที่ไม่มีเสน่ห์ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับเด็กวัยรุ่นหญิง เด็กวัยรุ่นชายที่มีเสน่ห์จะระมัดระวังตัวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการรักษาความสะอาดเรื่องกลิ่นตัว และความสะอาดของร่างกายโดยทั่วไป
4.ความบกพร่องทางร่างกาย
ในวัยเด็กความบกพร่อง หรือความพิการทางกายจะมีผลกระทบกระเทือนต่อเด็กน้อยมาก แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสาเหตุของความกังวลใจและความรู้สึกมีปมด้อยเพราะว่าในวัยรุ่นเด็กมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะได้รับการยอมรับ และนิยมยกย่องจากผู้อื่น สำหรับเด็กวัยรุ่นหญิงสภาวะทางกายที่บกพร่องหรือพิการใดๆ ก็ตามก็มีผลทำให้เพื่อนฝูงเพศเดียวกันไม่ยอมรับ และนิยมยกย่อง หรือที่ทำให้ตนเองเกิดความรู้สึกว่าเป็นคนไม่สวยงามและไม่มีเสน่ห์แก่เพื่อนชาย และทำให้เพื่อนชายหลีกเลี่ยงการคบค้าสมาคมด้วย สิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญใหญ่หลวงต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ ส่วนเด็กวัยรุ่นชายจะรู้สึกกังวลใจอย่างยิ่งในความบกพร่องหรือพิการทางกายที่เป็นสาเหตุให้ขาดความแข็งแรงล่ำสันแบบชายชาตรี และที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการแสดงออกที่ทำให้เพื่อนชายด้วยกันยกย่อง ตลอดจนเป็นอุปสรรคในการสร้างความนิยมชมชอบในเพื่อนเพศหญิง และอาจเป็นอุปสรรคในช่วงปลายวัยรุ่นกล่าวคือ ความบกพร่องหรือพิการทางกายอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาต้องผิดหวัง และล้มเหลวในการฝึกฝนอาชีพที่ได้เลือกไว้ก็ได้
5.ความสำคัญของเสื้อผ้าและการแต่งตัว
เสื้อผ้าและการแต่งตัวเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเด็กวัยรุ่น ในวัยนี้เด็กจะเริ่มเรียนรู้และค้นพบความสำคัญของเสื้อผ้า และการแต่งกายในแง่ที่ช่วยปิดบังลักษณะทางกายที่บกพร่องและช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพทางกายได้ ทั้งนี้เด็กอาจเรียนรู้จากการที่มีผู้ใหญ่แนะนำสั่งสอนหรือจากการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เด็กจะเรียนรู้ว่าลักษณะที่ไม่น่าดูบางอย่างซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกกังวลใจและปมด้อยนั้นเป็นสิ่งอำพรางได้ ด้วยการเบนความสนใจของผู้อื่นจากจุดบกพร่องนั้นๆ ได้โดยอาศัยเสื้อผ้า อาภรณ์ และเครื่องสำอางที่เหมาะสมกับตน
Hurlock (1929) ได้ทำการสอบถามว่าเป็นความจริงหรือไม่ที่การใช้เสื้อผ้ามีส่วนปกปิดส่วนบกพร่องของร่างกาย และได้พบว่า 72 เปอร์เซ็นต์ของเพศหญิงและ 38 เปอร์เซ็นต์ของเพศชายได้ให้คำตอบว่าจริง ส่วน 95 เปอร์เซ็นต์ของเพศหญิงและ 82 เปอร์เซ็นต์ของเพศชายได้ยืนยันว่าการรู้จักเลือกเสื้อผ้ามีส่วนส่งเสริมจุดเด่นทางกาย
1.3 อิทธิพลของสุขภาพ
สภาพของร่างกายในด้านสุขภาพความแข็งแรงอ่อนแอ หรือความมีโรคภัยไข้เจ็บมีผลต่อเจตคติ และพฤติกรรมของแต่ละคนไม่เพียงชั่วขณะเวลาที่เจ็บป่วยเท่านั้น แต่มีผลในระยะยาวด้วย ตัวอย่างเช่น เด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวซึ่งแม้จะไม่ร้ายแรงก็ตามหรือเด็กที่มีอาการป่วยเรื้อรังจะสร้างบุคลิกภาพซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพความเจ็บป่วยทางร่างกายที่เป็นอยู่ซึ่งมักจะแสดงออกในรูปพฤติกรรมที่อ่อนเพลีย โกรธง่าย หงุดหงิด และเอาใจยาก
เด็กที่สุขภาพทางกายไม่สมบูรณ์เพราะขาดแคลนอาหารจะมีน้ำหนักตัวน้อย และมีผลกระทบกระเทือนบุคลอกภาพ ได้มีผู้ศึกษาพบว่า คนอดมื้อกินมื้อปรากฏว่ามีลักษณะหมกมุ่นและชอบคิดฝันเกี่ยวกับอาการการกิน และลดความสนใจในสิ่งที่เคยสนใจน้อยลง เช่นภาพยนตร์ กีฬา หรือความรู้สึกทางเพศและมักมีจิตใจหดหู่ หงุดหงิดง่าย ไม่สนใจสังคม และขาดอารมณ์ขัน บางคนเป็นโรคที่เกิดจากอาการแพ้ หรือจากความรู้สึกไวต่อสิ่งเร้ามากเกินไป เช่นแพ้ละอองหญ้า เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง และมีอาการไข้ ปวดศีรษะและวิงเวียน เป็นผื่น คันตามผิวหนัง หรือมีอาการหอบ จากการศึกษาพบว่า คนที่เป็นโรคเนื่องจากอารมณ์เหล่านี้มีลักษณะทางบุคลิกภาพซึ่งแตกต่างจากผู้ที่ไม่เป็นโรคนี้ ในทำนองนี้คือตัดสินใจช้าและตัดสินใจยาก มีความลำบากในการคิดและรวบรวมความคิด มีปมด้อยในเรื่องทั่งๆไป วิตกกังวลเกี่ยวกับตนเองเกินกว่าเหตุ เกลียดกลัวภาระหน้าที่ประจำวัน และมีความรู้สึกอึดอัดแฝงอยู่ในใจ
2.อิทธิพลของสังคม
2.1อิทธิพลของระเบียบประเพณีและวัฒนธรรม
การปรับตัวตามแบบแผนของวัฒนธรรม
กฎเกณฑ์หรือระเบียบแบบแผนที่เป็นมาตรฐานสำหรับการประพฤติปฏิบัตินี้ อาจตั้งขึ้นโดยผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเป็นที่เคารพยำเกรงและเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองคนกลุ่มนั้น เช่นพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ปกครองประเทศ หัวหน้าเผ่า หรือผู้นำทางศาสนา เนื่องจากเหตุนี้เองบุคลิกภาพของคนในสังคมจึงพัฒนาจากมาตรฐาน และระเบียบแบบแผนของสังคมของตนเกิดมาและสังกัดอยู่ โดยที่คนเหล่านั้นก็อาจไม่รู้ที่มาของกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนที่ตนต้องยึดมั่นปฏิบัติตาม หรืออาจไม่เข้าด้วยซ้ำไปว่า เหตุใดตนจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนเหล่านั้นทั้งๆ ที่บางครั้งระเบียบปฏิบัติบางอย่างก็ขัดต่อความจริงและต่อความรู้สึกอันแท้จริงของตัวเองด้วย ดังที่เรามักจะได้ศึกษาพบว่าสังคมที่ยิ่งล้าหลังและห่างไกลความเจริญมากเพียงใดยิ่งมีระเบียบแบบแผนและมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติที่เคร่งครัดและเข้มงวดกวดขันมากเพียงนั้นเช่น ระเบียบประเพณีของชาวป่า ชาวเขา ชาวเกาะเผ่าต่างๆ เป็นต้น
สังคมแต่ละแห่งยังประกอบด้วย สถาบันสังคมย่อยๆ ที่คนต้องเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนตาย อาทิ บ้าน โรงเรียน สถาบันทางศาสนา เช่นวัด โบสถ์ตลอดจนถึงประเทศชาติ เป็นต้น ต่างก็มีแบบเฉพาะตัวในการฝึกฝนการสังคมแก่เด็ก โดยอาศัยการสั่งสอนโดยตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ให้เด็กได้เข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดตลอดจนลักษณะพฤติกรรมต่างๆ ที่เด็กต้องรับและปฏิบัติ ผู้ใหญ่จะสอนให้เด็กรู้ว่าสิ่งใดควรไม่ควรอย่างไร และผลจะเป็นอย่างไร ดังนั้นในการดำเนินชีวิตเด็กจึงสังเกตดูผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างและคอยลอกเลียนแบบอย่างจากผู้ใหญ่
ในแต่ละสังคมจะมีการกำหนดแบบแผนของพฤติกรรมระหว่างเพศชายและหญิงไว้ไม่เหมือนกัน เช่นชาวนิวกินีบางเผ่าอบรมผู้หญิงให้มีลักษณะอ่อนโยนและยอมตามผู้อื่น ซึ่งตรงข้ามกับเพศชายคือ เพศชายจะต้องมีลักษณะเข้มแข็งและต่อสู้ กระนั้นก็ดีในสังคมไทยยังคงนิยมและยึดถือหลักการที่ว่า “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าส่วนผู้หญิงเป็นช้างเท่าหลัง” อยู่เช่นเดิมฉะนั้นการฝึกอบรมเด็กผู้หญิงจึงยังคงเน้นหนักในเรื่องความสุภาพเรียบร้อยอ่อนโยนและความเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี ในขณะเดียวกันก็กำหนดบทบาทเพศชายให้เป็นผู้นำหรือหัวหน้าครอบครัวที่ดี
สรุปได้ว่าในเรื่องอิทธิพลของระเบียบวัฒนธรรมนี้ สมาชิกของสังคมคนใดสามารถประพฤติตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานของสังคมได้ย่อมเป็นที่ยอมรับและปรับตัวเข้ากับกลุ่มได้ดีตรงกันข้ามถ้าผู้ใดประพฤติผิดจากมาตรฐานของสังคม ย่อมประสบปัญหาและความยุ่งยากในการปรับตัวเข้ากับกลุ่มสังคมนั้นอย่างแน่นอน
การศึกษาของนักมานุษยวิทยาเกี่ยวกับโครงสร้างของสังคมกับบุคลิกภาพ
นักมนุษยวิทยาได้ทำการศึกษาลักษณะโครงสร้างของสังคมที่แตกต่างกันในแง่เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์และได้ชี้ให้เห็นว่าลักษณะของโครงสร้างของแต่ละสังคมอันมีวัฒนธรรมเป็นแกนกลาง มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับบุคลิกภาพและการดำเนินชีวิตของคนในสังคม
การศึกษานี้ได้สนับสนุนความคิดที่ว่าวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละสังคมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดสภาพที่แตกต่างกันให้แก่คนในสังคม ซึ่งยังผลให้คนเราแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดแม้แต่ในวัยเด็ก นอกจากนี้ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นด้วยว่า พฤติกรรมที่แสดงลักษณะความเป็นลูกผู้ชายหรือลูกผู้หญิงนั้นหาได้เป็นมาโดยกำเนิดไม่ แต่จะเกิดจากข้อกำหนดของวัฒนธรรมในสังคมของตน ดังเช่นตัวอย่างของเด็กชายและเด็กหญิงชาว Tchambuli เป็นต้น
สรุปได้ว่าโครงสร้างสังคมอันมีวัฒนธรรมเป็นแกนกลาง มีความสัมพันธ์อย่างมากกับการดำเนินชีวิต ผู้คนแต่ละหมู่เหล่าแต่ละเผ่าพันธุ์ต่างดำเนินชีวิตโดยเจริญรอยตามแบบแผนของสังคมของตน สังคมใดมีลักษณะโครงสร้างง่ายๆ ไม่สลับวับซ้อนผู้คนในสังคมนั้นก็จะมีชีวิตง่ายๆ เรียบๆ ปราศจากปัญหาหรือข้อขัดแย้ง ซึ่งแตกต่างจากสังคมที่ประกอบด้วยโครงสร้างสลับซับซ้อน สังคมสมัยใหม่ซึ่งเจริญก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และกำหนดมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติสูงขึ้นทุกด้านสำหรับคนในสังคมนับตั้งแต่ด้านการสังคม การศึกษา การประกอบอาชีพ การแต่งงานและการสร้างค่านิยมที่พึงปรารถนา ทั้งนี้ทำให้คนในสังคมประสบปัญหาข้อขัดแย้งและความเคร่งเครียดเป็นอย่างมากโดยเฉพาะบุคคลในวัยหนุ่มวัยสาวอันเป็นช่วงวิกฤติแห่งการปรับตัว
2.2อิทธิพลของลักษณะของครอบครัว
ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมแห่งแรกที่ทุกคนต้องเกี่ยวข้อง ชีวิตครอบครัวที่เพียบพูนด้วยความรักใคร่กลมเกลียวและอบอุ่นมั่นคงในวัยเยาว์ ย่อมเป็นรากฐานสำคัญของบุคลิกภาพที่ดีในภายหน้า เด็กที่โชคดีและเกิดมาอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเบื้องแรกทางครอบครัวที่ร่มเย็นเป็นสุขตั้งแต่เป็นทารกจนกระทั่งเติบใหญ่ ย่อมมีบุคลิกภาพที่ดีงามและสามารถปรับตัวได้ดีและมีชีวิตที่เป็นสุข
ลักษณะของครอบครัวแบบต่างๆ
1.ครอบครัวประเภท “บ้านแตก”(Broken Home)
เมื่อบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องจากเด็กไปจะด้วยการหย่าร้างหรือความตายก็ตาม เด็กย่อมได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักจากการสูญเสียบุคคลที่ตนรักและยึดถือเป็นเจ้าของยิ่งถ้าฝ่ายที่ยังอยู่กับเด็กแสดงความรู้สึกหงุดหงิดหรือแสดงอารมณ์ให้เด็กเห็นอยู่เสมอจะยิ่งบังเกิดผลร้ายแก่จิตใจเด็ก เพราะเป็นการกระตุ้นเตือนเด็กให้สำนึกอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับสถานะของครอบครัวของตนที่ผิดจากเพื่อนฝูงทั้งในเวลาเรียนที่โรงเรียนหรือในเวลาเล่นกับเพื่อนฝูง บางกรณีตรงกันข้ามคือบิดาหรือมารดาที่อยู่กับเด็กดูแลเอาใจใส่ปกป้องและพะเน้าพะนอเด็กมากตนเกินไปเพื่อชดเชยความรู้สึกของเด็กในการสูญเสีย สภาวการณ์เช่นนี้จะกลายเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างบิดาหรือมารดากับเด็กมากเกินไปจนแยกไม่ออกภายหลัง เช่นในกรณีที่จะแต่งงานใหม่เด็กอาจรู้สึกว้าเหว่ เสียใจและน้อยใจสุดขีดและมีความรู้สึกคล้ายถูกช่วงชิงสิ่งที่ตนรักและหวนแหนไป ทั้งนี้ย่อมทำให้เด็กเกิดปัญหาในการปรับตัวได้
ในกรณีครอบครัวแตกแยกนี้หากเด็กได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักใคร่ เอาใจใส่สม่ำเสมอจากฝ่ายบิดาหรือมารดาที่เด็กอยู่ด้วยเป็นอย่างดีตลอดมาและเด็กยังคงมีสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายที่แยกจากไปอยู่ เด็กย่อมรับสภาพชีวิตเช่นนี้ได้ดีขึ้น และสามารถปรับตัวทางบุคลิกภาพได้ดีด้วย
2.ครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำ
การศึกษาวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวมีผลต่อการปรับตัวของเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม ปรากฏว่าเด็กที่ปรับตัวได้ดีมักมาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูง อิทธิพลที่มีต่อการปรับตัวโดยตรงคือ วิธีการที่บิดามารดาใช้ในการควบคุมและอบรมเด็ก ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัว ครอบครัวที่ร่ำรวย ครอบครัวที่ยากจน ครอบครัวคนชั้นสูง ชั้นกลาง หรือชั้นต่ำ ย่อมมีวิธีการในการควบคุมและอบรมแตกต่างกันไปซึ่งทำให้เด็กมีบุคลิกภาพแตกต่างกันไป ส่วนอิทธิพลทางอ้อมหมายถึงการที่เด็กเปรียบเทียบฐานะของตนกับเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน นับแต่ลักษณะบ้านช่องและความเป็นอยู่ทุกๆ ด้านทำให้เกิดปมด้อย หรือปมเด่นได้ บางคนเก็บกดความรู้สึกแยกตัวเองจากสังคม ไม่สนใจการสังคมและมีความระทมทุกข์ในปมด้อยของตนเองซึ่งตรงกันข้ามกับครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจดี ครอบครัวมีหน้าตาในสังคม เด็กวัยรุ่นมักแสดงลักษณะของความเป็นอิสระและเป็นตัวเอง มีความมั่นใจในตนเองและมีความรู้สึกเหนือคนอื่น
3.ครอบครัวที่บิดามารดาใช้อำนาจและครอบครัวที่บิดามารดายอมเด็กและตามใจเด็ก
บิดามารดาบางคนมีลักษณะเป็นคนเจ้าอำนาจและชอบใช้อำนาจในการข่มขู่เด็ก ตั้งมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติสูงเข้มงวดกวดขันจนเกินไป และบางครั้งลงโทษเด็กอย่างรุนแรง เช่น เฆี่ยนตี กักขัง ตลอดจนชอบตำหนิติเตียน หรือขู่เด็กให้เสียขวัญและตระหนกตกใจอยู่เสมอ ซึ่งทั้งนี้เกิดจากเจตนาที่ดีที่ต้องการให้เด็กเป็นคนดี มีมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติที่สูงเกินวัยนั่นเอง สภาพครอบครัวเช่นนี้มักสร้างความหวั่นกลัวและมีความรู้สึกเคียดแค้นเป็นปฏิปักษ์แก่เด็ก ซึ่งบางรายกลายเป็นอาชญากรไปก็มี
ครอบครัวที่มีลักษณะตรงกันข้าม คือครอบครัวซึ่งบิดามมารดายอมเด็กและตามใจเด็ก บิดามารดาประเภทรี้มักจะตามใจ และให้อิสระแก่เด็กมากจนกระทั่งยอมให้เด็กมีอำนาจเหนือตนจนกระทั่งผลที่สุดไม่สามารถปฏิเสธคำเรียกร้องของเด็กได้ไม่ว่ากรณีใดๆ บางครอบครัวบุตรเกิดมาพิการไม่สมประกอบ หรือเจ็บไข้ได้ป่วย บิดามารดามักจะเอาอกเอาใจทนุถนอมและตามใจเด็กมากเป็นพิเศษจนเกินกว่าเหตุด้วยความเวทนาสงสาร เด็กบางคนชอบระเบิดอารมณ์เพื่อเรียกร้องสิ่งต่างๆ ที่ต้องการ บางรายก็ถึงขั้นขู่ว่าจำทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายถ้าบิดามารดาไม่ยอมให้สิ่งที่ต้องการ เท่าที่ปรากฏบิดามารดาส่วนมากมักจะยอมตามที่เด็กเรียกร้องเนื่องจากเกิดความเวทนาสงสารสภาพอันไม่สมประกอบของบุตร
4.ครอบครัวที่บิดามารดาปกป้องทนุถนอมเด็กมมากเกินไป
ตรงกันข้ามกับกรณีที่เด็กถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับการเอาใจใส่ บิดามารดาบางรายทนุถนอมและปกป้องบุตรมิให้ต้องประสบความลำบากในชีวิตประจำวันแม้เท่าปลายก้อย สภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้เด็กประสบปัญหาและความลำบากในชีวิตในภายหลัง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องเป็นอิสระและพึ่งตัวเองเพราะเด็กไม่ได้รับการฝึกฝน และเตรียมตัวในการเผชิญอุปสรรคและปัญหาในการดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง
เด็กที่ได้รับความรักและการเลี้ยงดูอย่างทนุถนอมจนเกินไปย่อมไม่มีโอกาสได้เตรียมตัวเพื่อเผชิญสถานการณ์ในภายหน้า เช่น ข้อเรียกร้องของครูซึ่งสร้างความหนักใจให้แก่เด็กหรือการที่ต้องแข่งขันกับเพื่อนที่โรงเรียนในด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโรงเรียนเด็กอาจปรับตัวด้วยบุคลิกภาพที่ไม่มั่นใจไม่กล้าตัดสินใจ หรืออาจแสดงออกด้วยความก้าวร้าวหรือแสดงปมเด่น เพื่อชมเชยปมด้อยซึ่งเกิดจากความรู้สึกไม่มั่นใจในการเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง ครั้นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ซึ่งเป็นวัยที่เด็กต้องมีชีวิตครอบครัวของตนเองหรือต้องประกอบอาชีพอิสระด้วยตนเอง บุคลิกภาพดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการปรับตัวที่ดีได้
5.ครอบครัวที่บิดามารดามีความทะเยอทะยานใฝ่สูงสำหรับเด็ก
บิดามารดาที่มีความทะเยอทะยานใฝ่สูงสำหรับชีวิตอนาคตของบุตร ส่วนใหญ่มีอยู่สองประเภทคือ ประเภทแรกตัวบิดามารดาเองเป็นผู้ได้ประสบความสำเร็จรุ่งโรจน์ในชีวิตและการงานมาแล้ว ฉะนั้นจึงผลักดันและยั่วยุบุตรให้ก้าวไปสู้ความสำเร็จในระดับเดียวกับตน ประเภทที่สองได้แก่ บิดามารดาที่มีชีวิตตรงกันข้ามกับประเภทแรกคือ ตัวเองขาดความสำเร็จหรือประสบความล้มเหลว หรือไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนและแสดงความสามารถในวัยที่ผ่านมาจึงกระทำกับบุตรในทำนองเดียวกับบิดามารดาประเภทแรก โดยหวังจะให้บุตรประสบความสำเร็จอย่างสูงในชีวิตเพื่อเป็นการชดเชยความรู้สึกขาดแคลนสิ่งนี้ในชีวิตของตนเอง การกระทำของบิดามารดาสองประเภทนี้มีผลให้เด็กเกิดอารมณ์เคร่งเครียดและกดดัน และมักจะทำให้เด็กเกิดปมด้อยและความไม่รู้สึกปลอดภัยในจิตใจ
6.ครอบครัวที่บิดามมารดาปรารถนาจะได้บุตรเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ
คนบางกลุ่มหรือบางชาตินิยมที่ได้บุตรเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ชาวจีนปรารถนาจะได้บุตรคนโตเป็นชายเพื่อจะได้เป็นผู้ถือแซ่สืบสกุลต่อไป ความรู้สึกเช่นนี้มิได้มีเฉพาะในหมู่คนจีนเท่านั้น คนทั่วๆไปบางครอบครัวก็รู้สึกเช่นนี้ สภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้เด็กที่เติบโตขึ้นมาและรู้ตัวว่าตนมิใช่เพศที่บิดามารดาปรารถนาจะเกิดความรู้สึกท้อแท้ใจและมีความไม่มั่นใจในตัวเองได้ ยิ่งในกรณีที่บิดามีภรรยาใหม่โดยอ้างว่าต้องการบุตรชายเพื่อสืบสกุล ความปั่นป่วนภายในครอบครัวและความรู้สึกกระทบกระเทือนใจย่องเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
7.ครอบครัวที่บิดามารดาอิจฉาเด็ก
ในบางครอบครัวเมื่อบุตรเกิดมาบิดาจะหมดความสนใจในมารดาหรือมารดาหมดความสนใจในบิดาไปเลยแต่กลับไปทุ่มเทความรักให้แก่บุตรแต่ผู้เดียว สภาพการณ์เช่นรักบางครั้งอาจสร้างความรู้สึกอิจฉาขึ้นในใจบิดาหรือมารดาฝ่ายที่ถูกทอดทิ้งได้ เช่นบิดาที่เคยได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่และการปรนนิบัติจากมารดาอย่างเต็มที่สม่ำเสมอ ครั้นพอมีบุตรบิดากลับหมดความสำคัญสำหรับมารดาไปเลยก็มี ทำให้มารดาเลิกปรนนิบัติดูแลบิดาโดยสิ้นเชิงและหันไปปรนนิบัติบุตรแทน ในกรณีเช่นนี้บอดาอาจเกิดความรู้สึกเฉยชาต่อบุตร หรือปฏิบัติต่อบุตรในลักษณะเย็นชาหรือดุร้ายรุนแรง ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรได้ เด็กที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้อาจมีความรู้สึกไม่พอใจบิดาแฝงในใจเงียบๆ หรืออย่างเปิดเผยและจะหันเหไปหาความรักความอบอุ่นใจจากมารดาเป็นเครื่องทดแทน
ความสำคัญของฐานะของเด็กในหมู่พี่น้อง
นอกเหนือจากลักษณะหรือสภาพครอบครัวแบบต่างๆ ฐานะของเด็กในหมู่พี่น้องอันเนื่องจากลำดับการเกิดก่อนเกิดหลังก็มีผลต่อการปรับตัวทางอารมณ์ของเด็กไม่น้อยเช่นกัน เด็กที่เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน เช่นบิดามารดาเดียวกัน สภาพแวดล้อมในครอบครัวเป็นอันเดียวกันก็จริง แต่พี่น้องแต่ละคนในครอบครัวจะได้ผลแตกต่างกันจากสิ่งแวดล้อมนั้นๆ
การเป็นบุตรคนเดียวของครอบครัว
การเป็นบุตรคนเดียวย่อมทำให้เด็กรู้ตัวว่าเป็นคนสำคัญที่สุดของบิดามารดา ความคิดเช่นนี้มักจะก่อให้เกิดผลเสียในการพัฒนาจิตใจของเด็กเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าในโลกที่สับสนวุ่นวายและแก่งแย่งชิงดีกันเช่นทุกวันนี้ อย่างไรก็ดีการเป็นบุตรคนเดียวของครอบครัว ถ้าได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจากบิดามารดาผู้มีความเข้ใจและมีความเฉลียวฉลาด ย่อมไม่เกิดปัญหาทางด้านการปรับตัวและบุคลิกภาพแต่อย่างใด เช่นหาทางส่งเสริมให้บุตรคบค้าสมาคมกับเพื่อนเล่นในละแวกบ้านเดียวกัน หรือให้เด็กเข้าโรงเรียนเด็กเล็กและหมั่นสอนเด็กให้รู้จักแบ่งปันและเสียสละไม่เฉพาะกับบิดามารดาแต่กับบุคคลอื่นโดยทั่วไป ตลอดจนสอนให้เด็กรู้จักเคารพในสิทธิและสมบัติส่วนตัวของผู้อื่นด้วย วิธีการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยลดความรู้สึกสำคัญในตัวเอง ความรู้สึกเหนือผู้อื่นและความต้องการที่จะให้ผู้อื่นสนใจแต่ตัวเองลงได้ อันจะทำให้เด็กสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น
การเป็นบุตรหัวปี
การที่เด็กเกิดมาเป็นบุตรคนแรกในครอบครัวย่อมหมายถึงกรเป็นบุตรคนเดียวของครอบครัวชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีน้องใหม่ จากการศึกษาได้พบว่าบุตรคนหัวปีมักจะมีความอิจฉาริษยามากกว่าบุตรคนอื่นๆ เพราะบุตรคนโตจะมีภาระหน้าที่ในการดูแลน้องทั้งต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้องและคำสั่งสอนของบิดามารดาอีกมากมาย ความรักและความสนใจที่บิดามารดาเคยทุ่มเทเฉพาะตนผู้เดียวก็ถูกแบ่งปันให้น้องๆ ประกอบกับตนต้องมีความรับผิดชอบต่อน้องๆ สภาพการณ์เช่นนี้จึงอาจก่อปัญหาทางบุคลิกภาพได้เมื่อตอนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
การเป็นบุตรคนสุดท้อง
เด็กที่อยู่ในฐานะบุตรคนสุดท้องยิ่งมีความโน้มเอียงที่จะมีปัญหาการปรับตัวทางบุคลิกภาพได้หลายอย่าง เนื่องจากบางครั้งน้องเล็กสุดท้องอาจถูกพี่ๆ บังคับหรือรังแกเพราะโตกว่าและมีอำนาจของความเป็นพี่ที่จะใช้บังคับน้องได้ หรือเพราะความอิจฉาหรือเคียดแค้นที่บิดามารดาทุ่มเทความรักให้น้องสุดท้องมากที่สุด เด็กอาจกลายเป็นคนขี้กลัว ช่างวิตกกังวล หรือชอบต่อต้านขัดขืน บางรายเด็กจะได้รับการตามใจจากบิดามารดาจนกลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพในการปรับตัวแบบทารกน้อยๆ ซึ่งต้องคอยพึ่งผู้อื่น
การเป็นบุตรคนกลาง
บุตรคนกลางมักจะไม่ค่อยได้รับความรักและความเอาใจใส่จากบิดามารดามากเท่าที่คนหัวปีหรือคนสุดท้องได้รับ บิดามารดามักละเลยบุตรคนกลางๆ โดยเฉพาะในกรณีที่มีบุตรมากและฐานะครอบครัวยากจน ผลก็คือเด็กจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ บิดามารดาที่ฉลาดสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาและอันตรายที่จะเกิดแก่จิตใจของเด็กได้ โดยเอาใจใส่และให้ความรักแก่บุตรทุกคนเท่าเทียมกันและสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นบุตรลำดับใดก็ตาม เพื่อส่งเสริมบุคลิกภาพที่ดีงามแก่เด็ก
3.อิทธิพลของเพื่อนฝูง
อิทธิพลของเพื่อนฝูงในวัยเด็ก
เพื่อนเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในความรู้สึกของเด็กทุกคน ในระหว่างอายุประมาณ 6-12 ปี เด็กได้เข้าสู่สถาบันทางสังคมที่สำคัญแห่งหนึ่งนอกเหนือจากบ้านคือโรงเรียน ฉะนั้นในช่วงวัยนี้เด็กจะมีเพื่อนวัยเดียวกันมากมายซึ่งมาจากครอบครัวต่างๆ กัน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะในการเข้าสังคมตามแบบแผนของวัฒนธรรมในสังคมนั้น จากการได้ร่วมและการเล่นกับเพื่อนฝูงวัยเดียวกันซึ่งใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงอยู่ในโรงเรียนด้วยกัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าบุคลิกลักษณะพื้นฐานที่ได้สร้างขึ้นมาจากชีวิตครอบครัวในตอนเล็กๆ ก็ยังมีความสำคัญอยู่อย่างมากในการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ
การที่เด็กในวัยนี้ก้าวจากสถาบันแรกทางสังคมหรือบ้านมาสู่โลกที่กว้างขึ้น คือ โรงเรียนนี้มีปัญหาที่ควรพิจารณาหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวและบุคลิกภาพของเด็ก ประการสำคัญได้แก่ปัญหาเรื่องความต้องการเป็นอิสระเสรีกับความก้าวร้าวเกเรรวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนวัยเดียวกัน
ในด้านความต้องการเป็นอิสรเสรีนี้ แท้จริงเริ่มเกิดขึ้นแต่วัยเด็กตอนต้นภายในครอบครัวแล้ว และเจริญเติบโตต่อมมาเรื่อยๆจนถึงวัยเด็กตอนปลาย วัยรุ่นจนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ อิทธิพลของกลุ่มเพื่อนวัยเดียวในแง่นี้คือ ทำให้เด็กพยายามดิ้นรนที่จะเป็นอิสระจากพ่อแม่ เด็กที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการสังคมร่วมกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน คือผู้ที่สามารถเป็นอิสระโดยตัวเองได้ในระดับพอดี มิใช่ผู้ที่เป็นอิสระเสียจนกลายเป็นก้าวร้าว หรือติดแน่นและอาลัยความอบอุ่นจากการปกป้องคุ้มครองของพ่อแม่ประดุจ “ลูกแหง่” จนไม่สามารถเป็นตัวเองได้เลย
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าในวัยเด็กโดยเฉพาะในระยะประถมต้นคือ ระหว่าอายุ 6-12 ปี เพื่อนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการสังคมของเด็ก โดนเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูง
อิทธิพลของเพื่อนฝูงในวัยรุ่น
เพื่อนฝูงและคนรู้จักมีอิทธิพลอย่างยิ่งโดยเฉพาะในชีวิตวัยรุ่นเพราะในวัยนี้เด็กมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำตัวให้เพื่อนฝูงยอมรับนับถือ เด็กเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะมีความเข้าใจดีกว่าเพื่อนฝูงมีความรู้สึกต่อตนอย่างไร ถ้าเด็กยิ่งได้รับความนิยมยกย่องจากเพื่อนจากเพื่อนฝูงมากเพียงไรย่อมทำให้เด็กเป็นคนที่มีลักษณะเป็นมิตร น่าคบ กล้าแสดงออก วางตัวในสังคมเป็น และมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นเพียงนั้น และจากลักษณะต่างๆของบุคลิกภาพดังกล่าวนี้ ย่อมจะช่วยให้เด็กเด่นในการสังคมและได้รับการยกย่องนิยมยิ่งขึ้นจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตัวเองในแง่ที่ดีด้วยอีกต่อเนื่อง เด็กวัยรุ่นที่มีการสังคมไม่ดี และไม่เป็นที่นิยมยกย่องของเพื่อนฝูงมักจะสร้างเจตคติต่อตนเองในแง่ไม่ดีขึ้นมา โดยเฉพาะจะมีจะมีความรู้สึกเคร่งเครียดและบางครั้งหวาดหวั่นใจ เด็กพยายามที่จะยอมรับและคล้อยตามความคิดเห็น การกระทำทุกอย่างของเพื่อนผู้เป็นที่รักใคร่และนิยมยกย่องของกลุ่มทั้งๆ ที่บางครั้งรู้สึกไม่เต็มใจก็ตาม และบางครั้งจะพยายามแสดงตัวโอ้อวดเพื่อให้เพื่อนฝูงประทับใจในความโก้หรือความสามารถของตน ทั้งที่จะเห็นได้ว่าแตกต่างจากเด็กที่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูงซึ่งมีลักษณะเป็นอิสระ อารมณ์ดีและเป็นตัวเองมากกว่าและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิดของผู้อื่นน้อยกว่า
การที่เด็กได้รับการยกย่องและยอมรับนับถือจากเพื่อนฝูง ไม่เพียงแต่จะมรอิทธิพลต่อการสร้างความรู้สึกนึกคิดต่อตนเองเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการปรับปรุงแต่งพฤติกรรมและลักษณะทางบุคลิกภาพในสังคมอีกด้วย เนื่องจากความปรารถนาที่จะเป็นที่ยอมรับนับถือของเพื่อนฝูงนี่เอง เด็กวัยรุ่นจึงพยายามปรับปรุงความคิดและพฤติกรรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานของกลุ่มที่ตนปรารถนาจะร่วมด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเด็กบางคนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเริ่มพิจารณาตนเองและสำนึกว่าความเอาแต่ใจของตนเอง ความตระหนี่ถี่เหนียวหรือความฉุนเฉียวเจ้าอารมณ์ของตนเป็นอุปสรรคในการคบเพื่อนเพราะทำให้เพื่อนฝูงรังเกียจและหลีกหนี จึงพยายามแก้ไขตัวเอง และพยายามสร้างลักษณะที่ดีที่ทำให้เป็นที่รักใคร่นิยมขึ้นมาแทนที่ เพื่อให้เป็นที่พึงปรารถนาของกลุ่มสังคมของตน
4.อิทธิพลของโรงเรียน
เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนสิ่งแวดล้อมทางโรงเรียนก็จะเริ่มมีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กนับตั้งแต่ความสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียนและครูอาจารย์ ความรู้สึกของครูและของเพื่อนฝูงที่มีต่อตนจากการเปรียบเทียบตนกับเพื่อนร่วมชั้นในด้านความสามารถทางการเล่าเรียนและทางด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตร รวมทั้งวิธีที่บุคคลเหล่านี้ปฏิบัติต่อตน ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยกำหนดความรู้สึกที่เด็กมีต่อตนเองทั้งสิ้น แต่ละปีที่เด็กเติบโตเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในตอนวัยรุ่นเด็กจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางโรงเรียนมากกว่าสิ่งแวดล้อมบ้านหรือทางอื่นๆ
อิทธิพลที่สำคัญอย่างหนึ่งในโรงเรียนได้แก่ตัวครู ในที่นี้เราหมายถึงแบบแผนของบุคลิกภาพของครูรวมทั้งเจตคติหรือความรู้สึกท่าทีที่ครูมีต่ออาชีพครุ สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลในการสร้างบรรยากาศภายในโรงเรียน เช่นเดียวกับที่บุคลิกภาพและเจตคติของบิดามารดามีอิทธิพลในการสร้างบรรยากาศภายในครอบครัว ครูที่มีลักษณะทำตัวเหนือนักเรียน โดยชอบใช้การบังคับ คำสั่ง การขู่เข็ญ การประจานนักเรียนและการทำให้นักเรียนรู้สึกตัวว่าต่ำต้อย จะมีอิทธิพลในการสร้างบุคลิกภาพของนักเรียนในแบบที่แตกต่างจากครูที่ใช้วิธีการขอร้องแทนคำสั่งและชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจคำขอร้องของครูจนนักเรียนเกิดความรู้สึกร่วมมือกับครูด้วยความเต็มอกเต็มใจ ครูที่ชอบใช้อำนาจจะใช้วิธีบังคับนักเรียนให้ปฏิบัติตามมาตรฐานและค่านิยมที่ครูวางไว้ ส่วนครูที่มีการสังคมดีจะใช้วิธีเชิญชวนและชักจูงให้นักเรียนร่วมมือกับครู
5.อิทธิพลของอุดมคติ
อุดมคติมีความสำคัญต่อเด็กไม่น้อยในการสร้างบุคลิกภาพและในการปรับตัว Havighurst (1950) ได้ระบุถึงบุคคลในอุดมคติที่เด็กยึดถือจากวัยวัยเด็กสู่วัยรุ่นตามลำดับดังนี้ คือ บิดามารดา ครูและผู้นำชุมชนต่างๆ เพื่อนฝูงวัยเดียวกันและรุ่นพี่ที่ปะสบความสำเร็จในชีวิต ผู้ใหญ่ทีมีชื่อเสียงเช่น ดาราภาพยนตร์ นักกีฬา หรือทหาร วีรบุรุษหรือวีรสตรีในหนังสือที่อ่าน ผู้ใหญ่วัยตอนต้นที่ชีวิตประสบความสำเร็จและมีเสน่ห์ดึงดูดใจซึ่งเด็กวัยรุ่นได้พบเห็น
อุดมคติทีความสำคัญต่อการปรับตัวทางบุคลิกภาพของเด็กวัยรุ่นมาก เพราะว่าเด็กจะไม่เพียงแต่ลอกเลียนแบบบุคคลที่ตนนิยมยกย่องเฉพาะลักษณะภายนอก เช่นการแต่งกาย การพูดจา หรือกริยาท่าทางเท่านั้น แต่จะเอาอย่างความรู้สึกนึกคิดตลอดจนค่านิยมที่บุคคลนั้นยึดถือด้วยโดยไม่รู้ตัว สภาพการณ์เช่นนี้จะช่วยให้เด็กวัยรุ่นได้เรียนรู้และเข้าใจหน้าที่ของตนเองเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เด็กวัยรุ่นหญิงที่ถือมารดาเป็นแบฉบับไม่เพียงแต่จะได้เรียนรู้ค่านิยมจากมารดาเท่านั้น หากยังได้เห็นและเข้าใจและเลียนแบบหน้าที่และบทบาทเพศหญิงจากมารดาอีกด้วย ดังเห็นได้จากการกระทำต่างๆของเด็กหญิงในวัยรุ่น เช่นความสนใจในหน้าที่แม่บ้านแม่เรือนเป็นต้น ดังนั้นหากปรากฏว่าเด็กวัยรุ่นชายคนใดยึดถือมารดาแทนที่จะยึดบิดาหรือผู้ใหญ่อื่นๆเพศเดียวกันเป็นบุคคลในอุดมคติก็มักจะประสบความลำบาก และเกิดปัญหาอย่างหนักในการปรับตัวทางบุคลิกภาพ เพราะเด็กย่อมแสดงพฤติกรรมตามบทบาทของเพศชายได้ยาก แต่จะกลับแสดงออกในลักษณะผู้หญิงๆเช่นเดียวกับมารดาที่ตนรักและบูชา ซึ่งจะก่อปัญหาในการสังคมได้อย่างมาก การสังคมภายในโรงเรียนจะสอนให้เด็กรู้ว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าเพศชาย ฉะนั้นการที่ตนจะทำตัวเช่นผู้หญิงจึงเป็นเรื่องน่าอายเพื่อนฝูงอาจจะล้อเลียนว่าเป็น “กะเทย” หรือ“หน้าตัวเมีย” ได้ ฉะนั้นเด็กวัยรุ่นชายจึงพยายามสร้างลักษณะความบึกบึนแข็งแกร่งแบบชายชาตรีขึ้นในบุคลิกภาพของตนและพยายามสนใจกีฬา ทั้งนี้เพื่อจะได้แสดงว่าตนเหนือกว่าผู้หญิง เด็กวัยรุ่นชายมักจะแสดงท่าทีแข็งแกร่งและไม่กล้าแสดงความอ่อนไหวของอารมณ์ให้ผู้อื่นเห็น เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นชายเต็มตัว
สุขภาพจิตกับการปรับตัว
การปรับตัวและการพัฒนาบุคลิกภาพเป็นกระบวนการลึกซึ้งและสลับซับซ้อนอันเป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยที่มีอิทธิพลมากมายหลายอย่าง ฉะนั้นย่องเป็นธรรมดาที่บางคนก็ประสบความสำเร็จในการปรับตัวเป็นอย่างดี และสามารถสร้างบุคลิกภาพที่ดีขึ้นมาได้ ทำให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ย่อมมีบางคนที่ประสบความยุ่งยากและความล้มเหลวในการปรับตัว สืบเนื่องมาจากสาเหตุบางประการได้เช่นกัน
กระบวนการปรับตัวหรือวิธีการที่คนเราแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ในการปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการของตนเอง เพื่อนฝูง หรือสังคม หรือในการเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเองตั้งแต่แรกเกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นเครื่องกำเนิดแบบของบุคลิกภาพซึ่งรวมทั้งคุณภาพของสุขภาพจิตของคนเราด้วย อาจกล่าวได้ว่าสุขภาพจิตเป็นผลของการปรับตัว ฉะนั้นสุขภาพจิตของคนเราจะมีคุณภาพดีหรือเลวเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน
ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิต จะช่วยให้คนเราสามารถรักษาความสมดุลทางอารมณ์ไว้ได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องส่งเสริมให้สามารถปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตสมัยใหม่ได้
ความหมายของสุขภาพจิต
ในการประชุมที่ทำเนียบขาวในเรื่องเด็กและเยาวชนในสหรัฐอเมริกา มีผู้ให้ความหมายของสุขภาพจิตที่ดีว่า
จะต้องเป็นผู้ที่สามารถมองเห็นอะไรๆตามที่เป็นจริงอย่างถูกต้อง ไม่เห็นผิดหรือเลือนไปตามจิตปรารถนา ไม่ควรจะ “ทำตัวแข็ง”ต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีเจตคติที่ยอมรับอะไรๆเสมอไปแทนที่จะเป็นเช่นนั้นเข้าควรปรับตัวได้เป็นอย่างดีและมีบุคลิกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อว่าเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต่างออกไป หรือเมื่ออยู่ใต้ภาวะกดดันก็สามารถจะประพฤติปฏิบัติได้อย่างคงเส้นคงวา”
ผู้สนับสนุนความคิดข้อนี้ได้กล่าวว่าคนที่อยู่ได้ในโลกปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยสุขภาพจิตที่ดีต้องตั้งใจและปรารถนาที่จะอยู่กับตนเองและกับผู้อื่นได้อย่างมีประสอทธิภาพ
ฉะนั้นอาจสรุปได้ว่าสุขภาพจิตที่ดีคือ ความสามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจของสิ่งแวดล้อมทุกอย่างแต่ไม่เอาแต่ใจตัวเองหรือไม่คำนึงถึงผู้อื่น
ลักษณะทั่วไปของผู้มีบุคลิกภาพที่ดี
สุขภาพจิตที่ดีเป็นผลของการปรับตัวที่ดี และการมีบุคลิกภาพที่ดีประกอบด้วยคุณลักษณะทางจิต 6 ด้านต่อไปนี้คือ
1.ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจสภาพความจริงอย่างถูกต้อง
บุคคลที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ควรจะมีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจสภาพความเป็นจริงทั้งภายนอกและภายในอย่างถูกต้องถ่องแท้ตามสภาพของมัน โดยไม่บิดเบือนความจริงด้วย ความต้องการหรือความรู้สึกส่วนตัวคนเราควรจะสามารถรับรู้และเข้าใจสภาพความจริงทั้งสองด้านคือ ความจริงภายนอกเช่น สภาวะแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม และความจริงภายใน ซึ่งได้แก่ความรู้สึกและความต้องการของตัวเราเอง ประการหลังนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าประการแรกเลยในแง่สุขภาพจิตบุคคลที่ไม่คุณสมบัติข้อนี้มักจะชอบโทษผู้อื่นเกี่ยวกับความผิดพลาดของตนเองหรือตรงกันข้ามกับบางคนที่ชอบเฝ้าแต่โทษตัวเองทั้งๆที่ไม่ใช่ความผิดของตนเอง ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่สามารถรับรู้และเข้าใจสภาพความจริงได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้การปรับปรุงตัวยุ่งยากและล้มเหลวได้
2.การแสดงอารมณ์ในลักษณะและขอบเขตที่เหมาะสม
เรื่องของอารมณ์มีทั้งแง่คุณและโทษ การมีอารมณ์ที่ไม่ดีย่อมเป็นผลร้ายต่อสุขภาพจิต ในที่นี้หมายถึงการมีอารมณ์ในลักษณะที่สมเหตุสมผลกับความจริง และเหมาะสมกับสถานการณ์ ดังตัวอย่างเช่น การสูญเสียบุคคลที่เรารักย่อมทำให้เกิดอารมณ์เศร้าโศกเสียใจ การประพฤติฝ่าฝืนระเบียบหรือกฎเกณฑ์ของสังคมย่อมทำให้เรารู้สึกผิดและละอายใจ การถูกดูหมิ่นเหยียดหยามก่อให้เกิดอารมณ์โกรธ หรือเมื่อตกอยู่ในภยันตรายย่อมเกิดอารมณ์กลัวเป็นต้น
3.ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม
คนเราเกิดมาแล้วไม่สามารถจะอยู่ตามลำพังได้ แต่จะต้องเริ่มพึ่งพาและเกาะเกี่ยวผู้ใหญ่ตั้งแต่แรกเกิด นับตังแต่วัยทารกและวัยเด็กซึ่งเด็กยังช่วยตัวเองไม่ได้ และตลอดชีวิตคนเราต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อความสุขส่วนตัวและเพื่อสวัสดิภาพอันดีของมวลมนุษย์
ในแง่สุขภาพจิตความสัมพันธ์ด้านสังคมเน้นหนักไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลกับผู้อื่นมากกว่าที่จะเน้นความสัมพันธ์ของมวลมนุษย์ในวงกว้างดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้หมายถึงความสามารถ 3 ด้านคือ
1.ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์สนิทสนมลึกซึ้งมากกว่าการรู้จักกันตามปกติธรรมดา
2.ความสามารถในการแสวงหาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์จากผู้อื่น
3.ความสามารถในการสร้าความรักและความเคารพนับถือต่อกัน
4.ความสามารถในการทำงานที่อำนวยประโยชน์
การตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานและความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงานที่ให้คุณประโยชน์เป็นคุณลักษณะสำคัญอีกด้านหนึ่งของสุขภาพจิตที่ดี คนเราจำเป็นต้องเลือกอาชีพและประกอบอาชีพการงานที่ตนถนัดให้เต็มความสามารถ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งการยกย่องนับถือจากผู้อื่นและความเชื่อมั่นและการเคารพตนเอง อันจะทำให้คนเรารู้สึกตัวว่ามีประโยชน์ต่อสังคม และสามารถหาเลี้ยงครอบครัวหรือช่วยเหลือคนในสังคมได้ ปัญหาใหญ่ของแทบทุกสังคมในปัจจุบันนี้ คือ ปัญหาคนว่างงาน ซึ่งยังผลให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพจิตอย่างมากมาย
5.ความรักและความต้องการทางเพศ
ความรักและความต้องการทางเพศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพจิตของคนเรา เกี่ยวกับความต้องการทางเพศนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่า ในบรรดาความประพฤติด้านต่างๆทั้งหลายของคนเรา ความประพฤติทางด้านเพศสัมพันธ์เป็นด้านที่มรข้อขัดแย้งและข้อห้ามมากยิ่งกว่าด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันนี้อิทธิพลจากการไหลบ่าของวัฒนธรรมตะวันตกเข้าสู่สังคมไทย เป็นเหตุให้การประพฤติปฏิบัติทางเพศของคนไทยโน้มเอียงไปตามแบบตะวันตกอย่างน่าวิตกยิ่ง ประกอบกับสาเหตุทางสังคมอีกหลายด้าน ได้ก่อให้เกิดการประพฤติผิดและอาชญากรรมทางด้านเพศในหมู่เด็กวัยรุ่นอย่างมากมาย เช่นปัญหาการลักลอบได้เสียกันในวัยเรียน ปัญหาลักเพศ การข่มขืนหญิงสาวหรือเด็ก เป็นต้น
6.ความสามารถในการพัฒนา “ตน”(Self)
ตั้งแต่วัยเด็กทุกคนต้องเผชิญกับความกดดันต่อเนื่องกันเรื่อยมา จากความพยายามในการดำเนินชีวิตทั้งในด้านการกระทำ การคิด เพื่อจะเป็นบุคคลตามแบบฉบับที่พ่อแม่และสังคมกำหนด คนเราต้องพยายามทำตัวให้สอดคล้องกับสังคมที่ตนสังกัด หรือบุคคลที่มีความสำคัญต่อชีวิตของตนเพื่อให้มีความสุขราบรื่น ปราศจากความขัดแย้งหรือถูกสังคมรังเกียจหรือลงโทษในการปฎิบัติตัวตามบทบาทที่สังคมกำหนดให้นี้ บางครั้งคนเราเกิดความรู้สึกขัดขืน และไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตนต้องกระทำ เท่ากับว่า “ตน”สองรูปได้เกิดการขัดแย้งกันขึ้น ซึ่งหมายความว่า การที่จะปฎิบัติตนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้อื่นย่อมเป็นการกระทบกระเทือนความรู้สึกและความต้องการของตนเอง หรือ “ตนที่แท้จริง”ซึ่งเป็นประหนึ่งหัวใจของบุคลิกภาพครั้นจะทำตาม “ตนที่แท้จริง” ก็จะกระทบกระเทือนสวัสดิภาพและความปลอดภัยของตนเองในสังคม
ลักษณะของเด็กวัยรุ่นที่ปรับตัวได้ดีและมีสุขภาพจิตดี
ลักษณะของสุขภาพจิตที่ดีอันเป็นผลจากความสำเร็จในการปรับตัวของเด็กวันรุ่น มีดังต่อไปนี้
1.มีความเชื่อมั่นและความรู้สึกมั่นคง
เป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างเต็มที่ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่มีปมด้อย ไม่กลัวเกรงตำแหน่ง ความยิ่งใหญ่ หรือการก้าวร้าวระรานของผู้ใดก็ตาม ในขณะเดียวกันก็รู้จักยอมรับความสามารถและความสำเร็จของผู้อื่นที่เหนือกว่าตน มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นด้วยความจริงใจ
2.มีลักษณะอบอุ่นเป็นมิตร
รักใคร่ผู้อื่นและได้รับความรักตอบแทน มีลักษณะนิสัยน่าคบ เมตตากรุณาต่อผู้อื่นด้วยน้ำใสใจจริง มิใช่เพื่อหวังผลตอบแทน จิตใจไม่โหดร้ายหรือเห็นแก่ตัว แต่รู้จักเกรงใจและคำนึงถึงจิตใจผู้อื่น
3.มีความรู้สึกตระหนักในคุณค่าของภาระหน้าที่ที่ปฏิบัติ
รู้จักใช้ความสามารถและสติปัญญาอย่างเต็มที่ในการศึกษาเล่าเรียน และในกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน เข้าร่วมชุมนุมต่างๆของโรงเรียนด้วยความสนุกและสนใจ ขณะอยู่บ้านก็ช่วยเหลืองานบ้านเท่าที่จะทำได้ เช่น ตัดหญ้า ล้างรถ ทำงานบ้าน เป็นต้น
4.พร้อมที่จะรับประสบการณ์ใหม่ๆและสนใจในกิจกรรมครอบครัว
มีความสุขในสิ่งต่างๆตามความถนัดและความสนใจเช่น การเล่นเทนนิสหรือกีฬาอื่นๆ การเล่นดนตรีที่ตนชอบถึงแม้จะเล่นได้ไม่ดีนัก ในระหว่างปิดภาคฤดูร้อนอาจสมัครทำงานเป็นพนักงานขายของ ทำงานก่อสร้าง ร่วมกิจกรรมค่ายกับสมาคมเยาวชนต่างๆ หรือช่วยอาสาพัฒนาชนบท
5.รู้จักรักษาอนามัยสุขภาพร่างกายสม่ำเสมอ
ทั้งนี้โดยการรักษาสุขภาพอนามัยอย่างสม่ำเสมอในการกิน การนอน และออกกำลังกาย เป็นต้น
6.มีความกล้าที่จะเผชิญความจริงในชีวิต
ไม่พยายามหลบหนีปัญหาต่างๆที่จะนำความทุกข์ใจและความผิดหวังมาให้ตลอดจนกล้ามี่จะเผชิญ
ความจริงเกี่ยวกับสภาพของตนเองที่นำความทุกข์ใจมาให้ เช่น ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นและความผิดพลาดในชีวิตโดยไม่หาทางออกด้วยการกล่าวโทษผู้อื่นหรือกลบเกลื่อนข้อบกพร่องของตนเองด้วยวิธีปรับตัวแบต่างๆเช่น การหาเหตุผลอื่นมากลบเกลื่อนหรือปิดบัง การคุยโอ้อวด ผู้ที่ปรับตัวได้ดีจะเผชิญความจริงอย่างกล้าหาญโดยไม่พยายามบิดเบือนความจริงต่อผู้อื่น
7.มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง
ไม่ท้อถอยและหวาดหวั่นพร้อมที่จะแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเต็มกำลังความสามารถและไม่ว่าจะเผชิญต่อความข้องคับใจมมากเพียงไรก็ตาม ก็ยังสามารถไว้ซึ่งบุคลิกภาพที่น่านับถือ
8.มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี
สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางครอบครัวและสังคมได้ง่าย มีใจกว้างพอที่จะรับฟังความคิดและข้อโต้แย้งของผู้อื่นในเวลาเดียวกันเป็นผู้ยึดมั่นในหลักการที่ดีมีมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติสูงและยึดถือค่านิยมที่ดีงาม
9.มีอารมณ์ซึ่งช่วยส่งเสริมแทนที่จะขัดขวางสวัสดิภาพของชีวิต
ไม่มีอารมณ์เกลียดเคียดแค้น อิจฉาริษยาหรือแม้ว่าจะมีอารมณ์กลัวหรือโกรธในบางครั้ง แต่รู้จักที่จะยับยั้งและควบคุมอารมณ์ได้ มีอารมณ์รักใคร่และเป็นมิตรกับเพศตรงข้ามได้ด้วยดี
10.ปราศจากนิสัยในทางจิตที่กระทบกระเทือนบุคลิกภาพ
ไม่ลงโทษตัวเองเมื่อทำผิด แต่จะจดจำประสบการณ์ไว้เป็นบทเรียนที่มีค่าไม่หวาดระแวงสงสัยผู้อื่น ไม่หยุมหยิมในเรื่องเล็กน้อยที่ไร้สาระ ไม่เคร่งเครียดและวิตกกังวลจรเกินสาเหตุ
ความล้มเหลวในการปรับตัว : ความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ
1.ลักษณะความยุ่งยากในการปรับตัว
ความยุ่งยากในการปรับตัวไม่ว่าจะมากน้องเพียงใดก็ตามมักจะปรากฏอาการในลักษณะต่อไปนี้
1.1อาการเคร่งเครียด
อาการเคร่งเครียดนับว่าสมุฏฐานสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของความยุ่งยากในการปรับตัว บางราบถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ หรือต้องการความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา อาการเครียดนี้อาจแสดงออกในรูปของความวิตกกังวล ความกระวนกระวายใจไม่เป็นสุข ความหดหู่และท้อแท้ใจ ความรู้สึกหมกมุ่นว่าตนได้กระทำผิด และความกลัวเป็นต้น ภาวะเช่นนี้ถ้ามีมากย่อมทำให้ชีวิตมีแต่ความทุกข์ และแสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นประสบความล้มเหลวในการปรับตัวในการดำเนินชีวิต
1.2อาการเจ็บป่วยทางกาย
โรคภัยไข้เจ็บทางกายก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเคร่งเครียดอันเกิดจากปัญหายุ่งยากในการปรับตัวในการดำเนินชีวิต โรคที่มักจะเป็นได้แก่โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้ ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจจะร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตก็ได้
1.3พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานของสังคม
สมุฏฐานของความยุ่งยากในการปรับตัวข้อหนึ่ง ได้แก่ พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานอันดีงามของสังคม เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติผิดจากระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ของหมู่คณะ หรือขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นแล้วยังสร้างปัญหาให้แก่ตนเองด้วย ผู้ที่ประพฤติผิดร้ายแรงก็อาจถูกกักขังไว้ในสถานอบรมและกักกัน หรือที่คุมขัง หรือ โรงพยาบาลโรคจิตเป็นต้น
1.4ความหย่อนสมรรถภาพในการดำเนินชีวิต
ความหย่อนสมรรถภาพในการดำเนินชีวิต อาจปรากฏได้ในรูปแบบต่างๆ เช่นขณะนั่งสอบจะเกิดความกลัวและความว้าวุ่นวิตกกังวลมากจนเกินเหตุ จนทำให้คิดอะไรไม่ออกหรือคิดสับสนวุ่นวาย และหมดสมรรถภาพในการรวบรวมความคิดอย่างมีระเบียบ ซึ่งทำให้สอบตกในวิชานั้น หรือการทำงานที่ตนเคยทำได้สำเร็จเป็นอย่างในอดีต จนถึงขั้นถูกไล่ออกจากงาน หรือจากโรงเรียนเป็นต้น
2.สาเหตุของความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ
สาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์อาจเป็นได้ทั้งสาเหตุเรื้อรังและสาเหตุเฉียบพลัน สาเหตุเรื้อรังส่วนใหญ่เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในแง่ต่างๆ ทั้งนี้หมายความถึงการที่คนเรามีข้อขัดแย้งระหว่างแรงผลักดัน หรือความต้องการทางร่างกายและทางจิตใจกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวาง เช่นในด้านความต้องการทางเพศ การสังคม การประกอบอาชีพ และชีวิตครอบครัว เป็นต้น
สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ ได้แก่
1.องค์ประกอบพื้นฐานทางพันธุกรรม ได้แก่อิทธิพลของโครงสร้างทางพันธุกรรม ซึ่งยังผลให้การทำงานของโครงสร้างทางสรีระน้อยหรือมากผิดปกติจนทำให้เกิดความไม่สมดุลในร่างกาย เช่นความแปรปรวนของต่อมไร้ท่อ
2.ประสบการณ์ทางสังคมตั้งแต่ชีวิตวัยเด็ก ได้แก่ ประสบการณ์หรือสิ่งแวดล้อมในชีวิตตั้งแต่วัยทารกจนเติบโตมีความสำคัญต่อการสร้างแบบแผนการปรับตัว ซึ่งจะส่งผลให้ปรับตัวได้สำเร็จมากน้อยเพียงไรในชีวิต ความล้มเหลวในการปรับตัวของคนเราเกิดจากผลของการเรียนรู้วิธีปรับตัวแบบผิดๆ ในการเผชิญสถานการณ์หรือแรงผลักดันทั้งภายนอกและภายในในการดำเนินชีวิตในสังคม
3.ความไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานซึ่งส่วนใหญ่คือ ความต้องการด้านเพศให้เป็นไปตามแบบฉบับของพฤติกรรมที่สังคมยอมรับได้ สาเหตุข้อนี้จะพบมากโดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่น
4.ความเหนื่อยล้า ความวิตกกังวล หรือความเบื่อหน่ายที่มากผิดปกติ เนื่องจากการงาน ชีวิตส่วนตัว ความเจ็บป่วยเรื้อรัง การขาดแคลนอาหาร การขาดวิตามิน การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดความเหนื่อยเพลียและความเครียด
5.ความเปลี่ยนแปลงทางสรีระในระยะย่างเข้าวัยรุ่น และการขาดการเตรียมตัวพร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในวัยนี้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของหญิงวัยกลางคนในระยะหมดประจำเดือนด้วย
6.ความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรือการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือไขสันหลัง
7.เชื้อโรค โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสขึ้นสมอง ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนการทำงานของระบบประสาทส่งนกลางและสมอง รวมทั้งโรคที่เกิดจาดพิษสุรา หรือยาเสพติด หรือที่เกิดจากพิษร้ายในร่างกายโดเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร
8.ความสะเทือนใจอย่างรุนแรงและฉับพลันจากประสบการณ์บางอย่างในชีวิตที่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจสุดขีด เช่น ความตายอย่างกะทันหันของผู้ที่เรารักใคร่ การเห็นภาพคนได้รับบาดเจ็บ หรือล้มตายในเหตุการณ์จลาจลนองเลือดเทื่อวันที่6เป็นต้น
9.ความกดดันที่เกิดจากภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่บีบคั้นจิตใจ ความยากจนย่อมเป็นเหตุของปัญหา เพราะคนเราจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชีวิตตนเองและครอบครัว บางคนทนความบีบคั้นไม่ไหวจึงกลายเป็นโรคประสาทโรคจิตหรือมีบุคลิกภาพแปรปรวน ซึ่งแสดงออกทางพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานของสังคม เช่น หันเข้าสุรา ยาเสพติด หรือประกอบอาชญากรรมต่างๆ นอกจากนี้ความยากจนยังเป็นเหตุปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาของเด็กซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต เพราะการขาดความรู้ทักษะที่จะเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพย่อมเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่ปัญหาความยุ่งยากได้
นอกจากนี้ภาวะทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายอันสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกเคร่งเครียดและความไม่แน่ใจแก่คนทั่วไป โดยเฉพาะคนในวัยหนุ่มสาวซึ่งมีอารมณ์แรง และต้องการแสวงหาอุดมการณ์ยึดเหนี่ยวยิ่งเกิดความสับสนว้าวุ่นใจ และตกอยู่ในภาวะเคร่งเครียดกกดดันจิตใจอย่างหนัก

บรรณานุกรม
นิภา นิธยายน.(2520).การปรับตัวและบุคลิกภาพจิตวิทยาเพื่อการศึกษาและชีวิต.กรุงเทพฯ:สารศึกษาการพิมพ์